บทเรียนออนไลน์
 -  สิ่งมีชีวิตแหล่งน้ำจืด 
 -  ความหมายของสัตว์น้ำ
 -  ประเภทของปลา
 - เทคโนโลยีจับสัตว์น้ำ
 - เทคโนโลยีชีวภาพกับการขยายพันธุ์สัตว์
บทเรียนวิทยาศาสตร์ออนไลน์   เรื่อง ชีวิตสัตว์น้ำจืด

สิ่งมีชีวิตแหล่งน้ำจืด  (Fresh  Water)
แหล่งน้ำจืดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทั่วไปรวมทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นจำเป็นต้องใช้น้ำจืดในการดำรงชีวิตโดยตรง  ถึงแม้ว่าที่อยู่อาศัยที่เป็นน้ำจืดบนโลกมีอยู่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นดินและมหาสมุทร แต่น้ำจืดเป็นระบบที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด  สังคมของสิ่งมีชีวิตที่พบในน้ำจืดมีการปรับตัวเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพตัวกลาง (medium) ที่เป็นที่อยู่อาศัยคือน้ำจืด    การจำแนกสิ่งมีชีวิต    ในน้ำจืด (classification of freshwater biota) การจำแนกสิ่งมีชีวิตในสังคมหรือระบบนิเวศมักจำแนกตามลำดับขั้นของการกินอาหาร  แบ่งออกเป็นผู้ผลิต  ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลาย   สำหรับในสังคมหรือระบบนิเวศ          เช่นแหล่งน้ำจืด  มักจำแนกสมาชิกตามที่อยู่อาศัย คือ
1.สิ่งมีชีวิตหน้าดิน  (Benthos) พวกกรองอาหาร  (filter feeders) ได้แก่หอยกาบ  พวกกิน
ตะกอนสารอินทรีย์ (deposit  frrdeeders)ได้แก่ไส้เดือนน้ำ  หอยขม  หอยโข่ง  เป็นต้น
2.พวกเกาะและแหวนตัวกับวัตถุในน้ำ (periphyton) ได้แก่ แอลจี  ไดอะตอม  โปรโตรซัวและรวมสัตว์น้ำพวกหอยฝาเดียวและตัวอ่อนของแมลงด้วย
3. แพลงก์ตอน(plankton) สิ่งมีชีวิตที่ลอยตัวอยู่ในน้ำหรือลอยตัวตามกระแสน้ำมีทั้งแพลงก์ตอนพืช  (phytoplankton)  และแพลงก์ตอนสัตว์  ((Zooplankton)
4.พวกที่ว่ายน้ำอิสระ(mekton)ได้แก่สัตว์ที่ว่ายน้ำได้อย่างดีและว่องไว ได้แก่ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กบ งู และแมลงน้ำเป็นส่วนใหญ่  เป็นต้น
5. พวกที่ลอยตัวบนผิวน้ำ(neuston) ได้แก่สิ่งมีชีวิตที่พักหรือลอยตัวบนผิวน้ำเช่น  แมลงจิงโจ้น้ำ
ความหมายของสัตว์น้ำ
       ตามคำนิยามของสัตว์น้ำ ในมาตรา 4(1) จาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ที่ระบุว่า      “สัตว์น้ำ หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ หรือวงจรส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง  เช่น ปลา กุ้ง แมงดาทะเล หอย เต่า  ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม   ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ” ดังนั้นสามารถสรุปความหมายของสัตว์น้ำได้ว่า
- สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ
- สัตว์ที่มีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ
- สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า  ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น
- สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล
- ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น
 - และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อไว้   
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามการอนุรักษ์ทรัพยากร ทรัพยากรสัตว์น้ำ จัดเป็นทรัพยากรที่
สามารถสร้างขึ้นได้ใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปแล้วได้ (Renewable resource) และถือว่าทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นทรัพยากรร่วม (Common property resource) ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ได้ ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของโดยถือว่าประชาชนทั้งประเทศต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน
ประโยชน์ของสัตว์น้ำ
      1. เป็นอาหารของมนุษย์
      2. ก่อให้เกิดอาชีพและรายได้
      3. นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำโดยตรงหรือเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์อื่นๆ   เช่น กลุ่มปลา     (Trash fish) จะถูกนำไปใช้ในการเลี้ยงปลากะพงหรือปลาเก๋า
ความหมายของปลา
ปลา คือ จัดเป็นสิ่งมีชีวิตใน Phylum Chordata (สิ่งมีชีวิตที่มีไขสันหลัง) Subphylum Vertebrata Class Pisces แตกต่างจากสัตว์กลุ่มที่เรามักเรียกว่าปลา เช่น ดาวทะเล โลมา วาฬ และหมึก มิได้จัดว่าเป็นปลา เพราะ ว่า ดาวทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมีโครงสร้างเป็นหินปูน โลมา และวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หมึกเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับหอย คือ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ขณะที่ปลาเป็นสัตว์ชั้นสูงที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์จำพวกที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates) ดังนั้นลักษณะสำคัญของสัตว์น้ำที่จัดว่าเป็นปลา มีดังนี้
         1. เป็นสัตว์เลือดเย็น คือ อุณหภูมิของน้ำและตัวปลาจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อุณหภูมิของน้ำเลือดในร่างกายของสัตว์ผันแปรไปได้ง่ายตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์เลือดอุ่นมีอุณหภูมิระหว่าง 37-44 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิของน้ำเลือดมีความสม่ำเสมอไม่แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะภายนอกเหมือนสัตว์เลือดเย็น
         2. เป็นสัตว์ที่หายใจด้วยเหงือก (Gills) ยกเว้นกลุ่มปลามีปอด เช่น วาฬ โลมา
         3. เป็นสัตว์ที่หากินและมีชีวิตอยู่ในน้ำเท่านั้น
         4. เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเช่นเดียวกับ กบ นก จระเข้ และเต่า (การมีกระดูกสันหลังเป็นลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างสัตว์ชั้นสูงกับสัตว์ชั้นต่ำ) อย่างไรก็ตามปลาเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดมากที่สุด ประมาณ 20,000 ชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่นๆ ดังนี้
               - ปลา 42.6 % ประมาณ 20,000 ชนิด
               - สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 6.6 % ประมาณ 2,500 ชนิด
               - สัตว์เลื้อยคลาน 16.0 % ประมาณ 6,000 ชนิด
           5. มีขากรรไกรครบ (ทั้งขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง) ยกเว้นพวกปลาปากกลม
           6. ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ด ด้วยเมือกหรือแผ่นกระดูก (สัตว์กลุ่มจระเข้ งู เต่า มีแผ่นเกล็ด แต่เป็นเกล็ดที่กำเนิดมาจากเยื่อปกคลุมร่างกายต่างชั้นกัน และไม่มีต่อมเมือกมากเหมือนปลา)
           7. เคลื่อนไหวไปมาโดยอาศัยครีบและกล้ามเนื้อลำตัว
           8. มีหัวใจสองห้อง (กุ้ง ปู ไม่มีหัวใจที่แท้จริง เป็นแค่การพองตัวของเส้นเลือด ไม่มีการแบ่งห้อง สำหรับกบ เขียด จระเข้ ถือว่ามีหัวใจสามห้อง ลิง มนุษย์ มีหัวใจสี่ห้อง)
           9. ส่วนมากปลามีการผสมพันธุ์กันภายนอกร่างกาย โดยที่ตัวเมียออกไข่มาก่อนแล้วตัวผู้จึงฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักออกมาเป็นตัว แต่ปลาบางชนิดมีการผสมพันธุ์กันภายในร่างกายของตัวเมียเช่นเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นสูงทั่วๆไป เช่น ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาเข็ม ปลากินยุง แต่ตัวอ่อนเหล่านี้มีได้รับอาหารจากแม่ทางสายสะดือเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
         10. ลำตัวซีกซ้ายซีกขวาเท่ากัน ในกลุ่มปลาลิ้นหมาและปลาซีกเดียว เมื่อยังอยู่ในวัยอ่อนมีลำตัวซีกซ้ายและขวาเท่ากัน แต่พอเจริญวัยขึ้น ด้วยพฤติกรรมหากินตามพื้นท้องน้ำ ทำให้ตาข้างหนึ่งเคลื่อนที่ย้ายมารวมกับอีกข้างหนึ่งเพื่อสะดวกในการหาอาหารและการดำรงชีวิตวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับปลา คือ มีนวิทยา (Ichthyology) เป็นการศึกษาลักษณะ องค์ประกอบ พฤติกรรม ความเป็นอยู่ของปลา
ประเภทของปลา
            การแบ่งกลุ่มปลาสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามวิวัฒนาการของปลา คือ กลุ่มปลาปากกลม (Cyclostomess) กลุ่มปลากระดูกอ่อน (Cartiaginous fish) และกลุ่มปลากระดูกแข็ง (Body fish)
กลุ่มปลาปากกลม
           กลุ่มของปลาที่ไม่มีกระดูกขากรรไกร มีลักษณะโบราณและคาดว่ามีบรรพบุรุษซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว มีโครงเป็นกระดูกอ่อน ลำตัวยาวคล้ายปลาไหล ไม่มีเกล็ด มีเมือกมาก ไม่มีแกนเหงือกโดยเหงือกจะมีลักษณะเป็นถุง ส่วนของโครงเหงือกติดกับกล่องสมองไม่มีครีบคู่ ไม่มีกระดูกซี่โครง มีรูจมูกรูเดียวอยู่ตรงกลาง เช่น ปลา Lamprey (วางไข่ในน้ำจืดแล้วกลับลงมาเจริญวัยและหากินในทะเล) และ Hagfish (พบในทะเลเขตอบอุ่น ดำรงชีพโดยการกินซากเน่าเปื่อยเป็นอาหาร)
กลุ่มปลากระดูกอ่อน
             คือ  กลุ่มของปลาที่มีกระดูกขากรรไกร มีวิวัฒนาการสูงขึ้นกว่าปลาปากกลม ปลากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักมากกว่าปลากลุ่มแรก เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารและใช้ประโยชน์ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ใช้ทำเครื่องหนัง เครื่องประดับ อาวุธ ได้แก่ ปลาฉลาม (Sharks) ปลากระเบน (Rays) และปลา ratfish                        (ที่พบในเขตอบอุ่นและเขตหนาว)

 

 

กลุ่มปลากระดูกแข็ง
คือ ปลาที่พบได้ทั่วๆไป ในเกือบทุกแหล่งน้ำ ส่วนมากมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาประกอบอาหารได้ดี เช่น ปลามีปอด ปลาซีลาแคนธ์ ปลากระดูกแข็งต่างๆ
ประโยชน์และโทษของปลา
- เป็นอาหาร
- เป็นสินค้า โดยแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ปูอัด ปลาแห้ง กุ้งแช่แข็ง
- เป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมประมง เช่น โรงงานปลาป่น โรงงานปลากระป๋อง                     
อุตสาหกรรมห้องเย็น
-ให้ผลพลอยได้อันมีค่า เช่น น้ำมันปลาใช้ปรุงอาหาร เป็นเชื้อเพลิง ทำสบู่
- ใช้กำจัดแมลง เช่น ปลากินยุง ปลากระดี่ ปลากัด ปลาสลิด ปลาแรด ช่วยกินลูกน้ำของยุง
- เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา เช่น การศึกษาวิวัฒนาการ ใช้ในการเปรียบเทียบและอ้างอิง           
ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชลธีวิทยา ชีววิทยา
- ใช้ในการพักผ่อน เช่น ปลาทอง ปลารักเร่
โทษของปลา
โทษของปลา คือ เป็นอันตรายต่อมนุษย์ กรณีเช่น ปลาไหลมอลเลย์ ปลาไหลไฟฟ้า หากมนุษย์ไปโดน
หรือสัมผัสอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ชนิดของปลา
           ชนิดของปลาสามารถจำแนกได้หลายลักษณะ ในที่นี้จะจำแนกตามลักษณะของแหล่งน้ำ และลักษณะของแหล่งอาศัย ได้ดังนี้
ก.จำแนกตามแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย แบ่งได้ 4 พวก คือ
          1) ปลาน้ำจืด (Freshwater fish) เช่น ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาไน เป็นต้น
          2) ปลาทะเล (Marine fish) เช่น ปลานกแก้ว ปลาสลิดหิน ปลาทู เป็นต้น
          3) ปลาน้ำกร่อย (Brackishwater fish) เช่น ปลากุเรา
          4) ปลาสองน้ำ (Migratory fish) คือ ปลาที่อาศัยอยู่ได้ทั้ง 2 น้ำ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
               4.1 Catadromous fish เป็นปลาสองน้ำที่วางไข่ในทะเลแต่อพยพไปเจริญเติบโตในน้ำจืด เช่น ปลาตูหนา(Angrilla) จัดเป็นปลาน้ำจืด
               4.2 Anadromous fish เป็นปลาสองน้ำที่วางไข่ในน้ำจืดแต่อพยพไปเจริญเติบโตในทะเล เช่น Salmon Lamprey ปลาตะลุมพุก

 

ข. จำแนกตามลักษณะของแหล่งอาศัย สามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม คือ
            1) ปลาที่อาศัยตามท้องน้ำ (Demersal fish) เป็นปลาที่อาศัยตามหน้าดินของแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ปลาบู่ ปลาดุก ปลาลิ้นหมา ปลาเห็ดโคน เป็นต้น
           2) ปลาที่อาศัยอยู่ในส่วนที่เป็นน้ำ (Pelagic fish) เช่น ปลาเสือพ่นน้ำ (จืดและกร่อย) ปลาอินทรีย์ ปลาทู เป็นต้น
          3) ปลาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณผิวน้ำในทะเลลึก (Oceanic fish) เช่น ปลานกกระจอก ปลาโอ ปลากระโทงแทง เป็นต้น
         4) ปลาในบริเวณชายฝั่ง (Inshore fish) เช่น ช่อนทะเล ปลาเก๋า ปลากระทุงเหว ปลาใบโพธิ์ ปลากะตัก   เป็นต้น
         5) ปลาทะเลลึก (Deep-sea fish) เช่น ปลาอีโต้มอญ ปลาทูน่า เป็นต้น
         6) ปลาในเขตน้ำขึ้นน้ำลง (Intertidal fish) เช่น ปลาตีน ปลากะรัง ปลากระบอก เป็นต้น
         7) ปลาในบริเวณปะการัง (Coral-reef fish) เช่น ปลากะรัง ปลากะพง ปลาสลิดหิน ปลานกแก้ว เป็นต้น

องค์ประกอบของร่างกาย : อวัยวะต่าง ๆ ภายนอกของปลา

                1. ตา ตาของปลาส่วนมาก จะทำหน้าที่ในการรับรู้ ความรู้สึกในการมอง และวิวัฒนาการ เพื่อให้สามารถ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในน้ำได้ดี
             2. จมูก โดยมากจมูกของปลา มีไว้สำหรับสูดดมกลิ่น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ปลาส่วนใหญ่มีรูจมูก 2 รู แต่บางชนิด อาจมีรูจมูกเพียงรูเดียวก็ได้
             3. ครีบหาง อยู่ส่วนท้ายสุดของตัวปลา ทำหน้าที่ช่วยบังคับทิศทาง ให้ปลาพุ่งไปข้างหน้า เวลาว่ายน้ำ และคอยบังคับการเลี้ยว และการทรงตัว
             4. ครีบทวาร มีลักษณะเป็นครีบเดียว คล้ายกับครีบหาง ซึ่งอยู่ส่วนล่างของลำตัว ถัดจากครีบหางเข้า ไปทางส่วนหน้าเล็กน้อย และอยู่ใกล้กับรูทวารหนัก มีหน้าที่ช่วยในการทรงตัว
             5. ครีบไขมัน มีลักษณะตั้งตรง สูงต่ำแผ่กว้างริ้ว ไปตามกระแสน้ำ มีทั้งอ่อนและแข็ง หรืออาจพบครีบหลัง ตั้งซ้อนกันอยู่ ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของปลาแต่ละชนิด ที่ผิดแปลกไป ทำให้เกิดความ สวยงามยิ่งขึ้น
             6. เกล็ดปลา มีทั้งเล็กและใหญ่เรียงซ้อนกัน เป็นระเบียบมีสีเงิน มันเงาช่วยป้องกัน อันตรายแก่ตัวปลา และยังช่วยลดแรงเสียดทานของอากาศ
           7. เส้นข้างตัว โดยทั่วไปแล้วเส้นข้างตัวจะอยู่อย่างเป็นอิสระข้างละ 1 เส้น ปลาบางชนิด อาจไม่มีหรือ    มีจำนวนมากก็ได้ มีหน้าที่สัมผัสติดต่อกับสภาวะภายนอก รับความรู้สึกถึง การสั่นสะเทือน ของระดับน้ำรอบ ๆ ตัวเกี่ยวกับ สภาพแวดล้อมในการปรับตัว เช่น อุณหภูมิ และความเค็มของน้ำ
           8. หนวด เป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้าน ส่วนหัวของปลา มีความสั้น - ยาว แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา หนวดมีหน้าที่รับความรู้สึก รับรส คลำทางหาอาหาร
           9. ครีบคู่ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ เปรียบเสมือน แขน ขา ช่วยในการบังคับ ให้ปลาปักหัว เชิดหัว หรือทรงตัวอยู่กับที่
         10. รูทวารหนัก เป็นส่วนที่อยู่ทาง ด้านหลังของครีบท้อง เชื่อมติดต่อกับครีบทวารหนัก มีหน้าที่ในการขับถ่ายมูล และของเสียต่าง ๆ               

ปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย

ปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย
ปลากระทิงไฟ


ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัว         สีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจึดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้
อาหาร
แมลง ลูกกุ้ง ลูกกบ และปลาขนาดเล็ก

ปลากระแหทอง (ปลากระแห หรือ ปลาตะเพียนหางแดง)


ชื่อสามัญ : Schwanenfeld's Tinfoil Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes schwanenfeldi
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัตย์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด หนวดเล็กและสั้นมี 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบกระโดงหลังสูง และกว้างมีสีแดง ลำตัวเป็นสีขาวเงินและสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว แก้มสีเหลืองปนแดง ขนาดของลำตัวความยาว 15 - 35 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียว ว่องไว ไม่อยู่นิ่งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย
พบทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
อาหารพืชพันธุ์ไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย

ปลากระโห้


ชื่อสามัญ : Siamese Giant Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Catlocarpio siamensis
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เป็นปลาน้ำจืดจำพวก ปลาตะเพียน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวค่อนข้างป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวสีเทาแซมชมพู สันหลังเป็นสีน้ำตาลอมดำ ด้านข้างและส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีหัวยาวและใหญ่ผิดปกติ หัวมีผิวเรียบมัน ไม่มีเกล็ดคลุม ความยาวของหัวประมาณ 1ใน3 ของลำตัว ตาโตและยื่นโปน ริมฝีปากล่างหนาและยื่นออกมาพ้นริมฝีปากด้านบน ปากกว้างขากรรไกรยาวถึงบริเวณตา มีฟันที่คอหอยเป็นแถวอยู่ข้างละแถว ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดใหญ่ขอบเรียบ ครีบหลังสูงและอยู่ตรงกับครีบท้อง ครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นแถบเว้าลึก ครีบทุกอันมีสีแดงปนส้ม ปลาตัวผู้มีลำตัวเล็กและเรียว ส่วนท้องแบบเรียบสีดำคล้ำกว่าตัวเมีย
นิสัย
มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำลึก แข็งแรงและอดทน
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย เคยมีอยู่ชุกชุมในลุ่มแม่นํ้า แม่กลอง เจ้าพระยาจนถึงบอระเพ็ดในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีปรากฏให้พบเห็นอยู่บ้างในลำนํ้าโขง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปลากะมัน หรือ หัวมัน
อาหาร
แพลงก์ตอน พืชนํ้า

ปลากระสูบขีด


ชื่อสามัญ : Transverse-bar Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hampala macrolepidota
ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน ลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบนท้องกลมมน จะงอยปากแหลมปากกว้างและเอียงขึ้นเล็กน้อย มีหนวดที่มุมปาก 1 คู่ ครีบหลังอยู่ตรงข้ามกับครีบท้อง เกล็ดใหญ่ สีของตัวจะเป็นสีขาวเงิน มีลายดำพาดขวางลำตัว หางสีแดงสด ครีบสีแดงหรือสีส้ม มีขนาด 20-50 เซนติเมตร
นิสัย
ว่องไวปราดเปรียวและตื่นตกใจง่าย โดยทั่วไปมีนิสัยก้าวร้าวไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงรวมกับชนิดอื่นเพราะแม้แต่พวกเดียวกันเอง ถ้ามีขนาดแตกต่างกัน หากนำมาเลี้ยงรวมกันจะกัดกันเอง
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำ ลำคลองทั่วไปทุกภาคของไทย
อาหารลูกปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร
การสืบพันธุ์
ไม่ปรากฏในรายงาน

ปลากราย (ปลาหางแพน หรือ ปลาตองกราย)


ชื่อสามัญ : Spotted Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitara ornata
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลาฉลาก ท้องแบน ลำตัวด้านข้างแบนมากสันหลังส่วนต้นสูงชันและค่อย ๆ ลาดลงไปยังส่วนหางคล้ายมีด พื้นที่ลำตัวสีเทาเงิน ลำตัวส่วนบนสีคล้ำกว่าด้านล่าง เกล็ดละเอียด หัวมีขนาดเล็กปลายหัวแหลมมน ปากกว้างสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก มีฟันแหลมคมบนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังขนาดเล็กปลายมนคล้ายขนนก ครีบท้องยาวเป็นแพรเชื่อมกับครีบหาง เหนือครีบก้นมีจุดดำกลางขนาดใหญ่ล้อมรอบ ด้วยวงแหวนสีขาวเรียบเป็นแถวอยู่ 5 - 10 จุด ลูกปลากรายเมื่อยังเล็กมีแถบสีดำประมาณ 10 -15 แถบพาดขวางลำตัว เมื่อโตขึ้นแถบดำเหล่านี้จะค่อยจางหายไปกลางเป็นจุดขึ้นมา แทนที่ มีขนาดความยาวประมาณ 48 - 85 เซนติเมตร
นิสัย
ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็กๆ และหลบพักตามตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย พม่า อินเดีย มาเลเซีย ในไทยพบทั่วไปตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาตองกราย
อาหาร
แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็กๆ

ปลาก้าง


ชื่อสามัญ : Red-tailed Snakehead
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa gachua
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีลำตัวสีเทา ครีบหลัง,ครีบหาง และครีบก้นมีสีแดงสด มีความยาวลำตัวไม่เกิน 20 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ อดทน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี
ถิ่นอาศัย
อาศัยในแม่น้ำ หนองบึง คลอง ลำธารที่อยู่บนภูเขาสูง สามารถอาศัยอยู่บริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2000 ฟุต

อาหาร
         ลูกปลา ลูกกุ้ง และตัวอ่อนของแมลง

ปลากา (ปลาเพี้ย)


ชื่อสามัญ : Greater Black Shark
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morulius chrysophekadion
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลาง ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง พื้นลำตัวสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ เกล็ดมีขนาดใหญ่คลุมตลอดลำตัวยกเว้นส่วนหัว หัวเรียวแหลม ปากยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้น ๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูงมาก ครีบหู ครีบท้อง และครีบก้น เรียวยาวและมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก ครีบทุกครีบมีสีดำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย แหล่งน้ำที่มีระดับน้ำตื้นๆ และมีพันธุ์ไม้น้ำ
อาหาร
ตะไคร่น้ำ พืชน้ำขนาดเล็ก แพลงก์ตอน ซากพืชและตัวอ่อนแมลงน้ำ

ปลาตะพัด


ชื่อสามัญ : Malayan Bonytongue
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scleropages formosus
ลักษณะทั่วไป
ปลาน้ำจืดโบราณชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม ลำตัวแบนด้านข้างส่วนท้องแบนเป็นสันคม เกล็ดมีขนาดใหญ่และหนา เกล็ดบนเส้นข้างตัวมี 21-24 เกล็ด ครีบหลังและครีบก้นตั้งอยู่ค่อนไปทางปลายหาง ครีบอกค่อนข้างยาวประมาณหนึ่งในสามของความยาวลำตัว ครีบหางมนกลมปากกว้างมากเฉียงขึ้นด้านบน ที่ตอนปลายขากรรไกรล่างมีหนวดขนาดใหญ่แต่สั้น 1 คู่
นิสัย
มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่น ชอบกัดและทำร้ายปลาชนิดอื่นแม้แต่ปลาชนิดเดียวกันจึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น
ถิ่นอาศัย
ปลาตะพัดมีเขตแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศไทย ไปถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบอาศัยอยู่ในลำธารน้ำไหลเอื่อยๆ ในบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และแม่น้ำลำคลองหลายสายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสตูล มักเป็นลำธารที่มีน้ำค่อนข้างขุ่นมีลักษณะเป็นกรดน้อยและท้องน้ำเป็นหินปนทราย
อาหาร
ปลาขนาดเล็ก กบ เขียด ลูกกุ้งและสัตว์น้ำอื่น ๆ รวมทั้งสัตว์บกขนาดเล็กที่ตกลงไปในน้ำ
การสืบพันธุ์
ปลาชนิดนี้มีลักษณะการสืบพันธุ์ที่แปลกจากปลาอื่น ๆ โดยวางไข่จำนวนน้อยฟอง แม่ปลาที่มีน้ำหนักตัว3-6 กิโลกรัม จะวางไข่เพียง 40-100 ฟอง ไข่แต่ละฟองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างเฉลี่ย 1.72 เซนติเมตร เมื่อวางไข่ออกมาแล้วจะฟักไข่โดยการอมเอาไว้ในปากจนกระทั่งไข่ถูกฟักออกเป็นตัว และจะคอยดูแลลูกปลาหากมีศัตรูเข้ามาใกล้ แม่ปลาจะอ้าปากออกให้ลูกปลาเข้าไปหลบภายในปากหรือ พาหนีไปให้พ้นอันตราย
สถานภาพ
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ปลาตะเพียนขาว (ปลาตะเพียน)


ชื่อสามัญ : Common Silver Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes gonionotus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลักษณะ ลำตัวอ้วนป้อม หัวเล็กเกล็ดใหญ่ ปากเล็ก ลักษณะที่แตกต่างจากพวกเดียวกันคือมีก้านครีบอ่อนของครีบก้นอยู่ 6 ก้าน ส่วนชนิดอื่นมี 5 ก้าน สีของลำตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ด้านหลังสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาว เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่ายน้ำรวดเร็ว กระโดดได้สูงมาก มีขนาดความยาวประมาณ 8 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงนอกจากเวลาสืบพันธุ์หรือวางไข่ มีความว่องไวปราดเปรียว ชอบหลบซ่อนตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย
ถิ่นอาศัย
พบในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร

พืช เมล็ดพืช เมล็ดพืชตระกูลหญ้า สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์ แพลงตอน และไรน้ำ

ปลาตะเพียนทอง


ชื่อสามัญ : Red-tail Tinfoil Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes altus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลางมีความยาวประมาณ 3-8 นิ้ว สีสันสวยงาม ลำตัวป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวมีสีเงินหรือทอง หัวและปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง ครีบหลังสูงมีสีเทาและส่วนยอดของครีบสีดำ ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึกเป็นสีเหลือง ขอบหางเป็นสีเทาจาง ๆ ครีบท้องและครีบก้นเป็นสีเหลืองส้มสลับแดง
นิสัย
มีความว่องไวและปราดเปรียว อยู่รวมกันเป็นฝูงหากินและวนเวียนอยู่ตามผิวน้ำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจืด และบางทีก็เข้าไปอาศัยอยู่ในลำคลอง หนองและบึงต่างๆ และมีชุกชุมมากในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาโมงค่า ภาคอีสานเรียกว่า ปลาปาก ภาคใต้เรียกว่าปลาตะเพียนทอง
อาหาร
พืชน้ำและสาหร่ายขนาดเล็ก

ปลาตองลาย


ชื่อสามัญ : Blanc's Striped Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitara blanci
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาสลาด ปลากราย และปลาสะตือ ลำตัวเรียวยาวด้านข้างแบนมาก พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มอมดำ หรือสีเทาอมเขียว บริเวณส่วนหน้าของลำตัวมีจุดสีดำประปรายอยู่ข้างลำตัว ส่วนท้ายมีขีดสีดำเล็ก ๆ พาดเฉียงจากส่วนบนของลำตัวไปถึงครีบก้นและครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก ปากกว้าง เกล็ดมีขนาดเล็กสีขาวเงิน ส่วนหลังของปลาถึงบริเวณหัว มีความลาดชันมาก ครีบหลังมีขนาดเล็ก ครีบก้นเป็นแนวยาวและเชื่อมติดกับครีบหางโดยเฉพาะในปลาตองกรายตัวผู้ กล้ามเนื้อบริเวณนี้ มีขนาดใหญ่และหนา ชาวบ้านเรียกว่า เชิงปลา
ถิ่นอาศัย
แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำแหล่งเดียวในโลกที่มีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่
อาหาร

ปลา ลูกกุ้ง สัตว์น้ำขนาดเล็ก

ปลาพลวง (พลวงหิน หรือ ปลามุง)


ชื่อสามัญ : Soro Brook Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neolissocheilus soroides
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดลำตัวยาวด้านข้างแบน มีเกล็ดขนาดใหญ่ หัวเล็ก กระโดงหลังค่อนข้างสูง ครีบหูมีขนาดเล็ก ครีบท้องและครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเขียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ละ 10 - 20 ตัว มีขนาดความยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
ชอบอยู่บริเวณน้ำตก และลำธารบนภูเขา พบทั่วไปทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร
แมลง พืช และผลไม้

ปลานวลจันทร


ชื่อสามัญ : Small Scale Mud Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cirrhina microlepis
ลักษณะทั่วไป

อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างเพรียวบาง ลำตัวค่อนข้างกลม ปากเล็ก สีของลำตัวมีตั้งแต่สีส้มปนเทา จนถึงน้ำตาลปนสีขาวเงิน ท้องสีขาว ครีบหลัง ครีบหางเป็นสีน้ำตาลปนเทามีขนาดความยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
ปราดเปรียวว่องไว ไม่ค่อยอยู่นิ่ง อดทน เลี้ยงง่าย ชอบว่ายอยู่บริเวณพื้นน้ำ มักพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบซ่อนตัวอาศัยอยู่ตามรากไม้หรือโขดหิน
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อยุธยาจนถึงนครสวรรค์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบแถบชายทะเล ชายแดนติดต่อแม่น้ำโขง
อาหาร
พืช แมลง และกุ้ง

ปลาน้ำเงิน (ปลานาง)


ชื่อสามัญ : Common Sheatfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micronema apogon
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่รูปร่างคล้ายปลาเนื้ออ่อน ลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีดำอมเขียว หัวแบนสั้นและตาเล็ก ปากค่อนข้างกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบหูใหญ่ปลายมน ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาว แต่ไม่มีครีบหลัง สันหลังบริเวณต้นคอสูงและลาดต่ำลงไปทางปลายหาง ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก
นิสัย
เป็นปลาที่มีลักษณะนิสัยก้าวร้าว จะกบดานนิ่งๆ อยู่ใกล้ระดับพื้น ว่ายน้ำเฉพาะเวลาออกล่าเหยื่อ ขี้ตื่นตกใจง่าย
ถิ่นอาศัย
อยู่ในแหล่งน้ำไหล พบในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง
อาหาร
เนื้อปลา กุ้ง และแมลงน้ำ

ปลานิล


ชื่อสามัญ : Nile Tilapia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orcochromis niloticus
ลักษณะทั่วไป
เป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ แตกต่างกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัวมีความยาวประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
อดทน เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ถิ่นอาศัย
ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยเจ้าชายฮากิฮาโต มงกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว
อาหาร
จำพวกไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง

ปลาแก้มช้ำ


ชื่อสามัญ : Red-cheek Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Puntius orphoides
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดทั่วไปที่อยู่สกุลเดียวกับปลาตะเพียนขาว ลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบน หัวเล็ก ปากค่อนข้างเล็ก อยู่ปลายสุด มีหนวดสั้น ๆ และเล็กจำนวน 4 เส้น มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่สีตามบริเวณลำตัว และหัวจะเป็นสีขาวเงิน หลังสีน้ำตาลอ่อน กระพุ้งแก้มสีแดงเหมือนรอยช้ำ บริเวณช่องเปิดเหงือก มีสีแถบดำ ครีบหลัง,ครีบท้อง,ครีบก้นมีสีแดง ครีบหางจะมีสีแถบดำ
นิสัย
รับสงบ ตื่นตกใจง่าย มักกบดานเงียบ ๆ ไม่ค่อยว่ายน้ำนอกจากเวลาหาอาหาร
ถิ่นอาศัย
พบทั่วไปตามแหล่งน้ำไหล น้ำนิ่ง ในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
อาหาร

แมลง ซากพืช และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

ปลาเค้า


ชื่อสามัญ : Great White Sheatfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wallagonia attu
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาเนื้ออ่อน ลำตัวค่อนข้างแบนยาวคล้ายมีดดาบ ไม่มีเกล็ดตามลำตัว ลำตัวมีสีเงินปนเทา ท้องขาวอมส้ม ครีบต่าง ๆ สีเหลืองอ่อน นัยน์ตามีขนาดเล็ก ปากกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาวจรดโคนหาง มีหนวดยาวอยู่ 2 คู่ ที่ริมฝีปากบนและล่าง ครีบหางเล็กเป็นแฉกเว้า
นิสัย
ปราดเปรียวว่องไวไม่อยู่นิ่ง ว่ายน้ำเก่ง บางครั้งพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำ และปล่อยตัวให้ตกลงมาทำให้เกิดเสียงดัง
ถิ่นอาศัย
พบอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด แม่น้ำโขง
อาหาร

กินปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย

ปลาเทพา (ปลาเลิม)


ชื่อสามัญ : Chao Phraya Giant Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasius sanitwongsei
ลักษณะทั่วไป
ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในจำพวกปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวายและปลาเทโพมีขนาดลำตัวยาวถึง 2.5 เมตร และมีน้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม เป็นปลากินเนื้อที่มีส่วนหัวค่อนข้างสั้นแต่มีลักษณะแบนและกว้าง มีลักษณะเด่นตรงที่มีก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอก และครีบท้อง มีขนาดใหญ่และยื่นยาวเลยครีบออกไปมาก จึงดูสง่างามในเวลาว่ายน้ำมากกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติจะว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย
พบในประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน
อาหาร

อาหารที่ชอบได้แก่ซากสัตว์ที่ตายลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลูกปลาขนาดเล็กมักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง กินแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

ปลาเทโพ (ปลาหูหมาด)


ชื่อสามัญ : Black Ear Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasius larnaudii
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย เพราะเป็นปลาในสกุลเดียวกัน มีหัวโต หน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาว ค่อนข้างแบน นัยน์ตาค่อนข้างโต อยู่เหนือมุมปาก มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ริมฝีปากบนมุมปากแห่งละคู่ ลักษณะมีสีคล้ำหรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียว ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่เหนือครีบหู มีขนาดความยาวประมาณ 80 - 120 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ว่องไวปราดเปรียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
เคยชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันพบในแม่น้ำโขง
อาหาร

สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า

ปลาชะโด


ชื่อสามัญ : Giant Snake-head Fish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa micropeltes
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืด ลำตัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก รูปร่างคล้ายคลึงกับปลาช่อน เป็นปลาที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ ลูกปลาชะโดเมื่อยังเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลและแถบสีเหลืองอมส้มพาดตามยาว โดยบริเวณโคนหางมีสีแดงสด เมื่อโตขึ้นส่วนบนของลำตัวมีสีเขียวอมน้ำเงินเข้มคลายสีเปลือกหอยแมลงภู่ ส่วนท้องสีขาว กึ่งกลางลำตัวมีแถบดำพาดไปตามความยาวของลำตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางมนกลม ปลาชะโดมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจโดยไม่ต้องกรองผ่านช่องเหงือกเหมือนปลาช่อน
นิสัย
เป็นปลาน้ำจืดที่ค่อนข้างดุ
ถิ่นอาศัย
ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาหาร

สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า

ปลาเสือพ่นน้ำ


ชื่อสามัญ : Common Archer Fish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Toxotes chatareus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ลำตัวป้อมสั้นและแบนข้าง ความยาวลำตัวประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีเงินแซมเหลือง บริเวณท้องมีสีขาวเงิน มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดขวางลำตัว 5 - 6 แถบ ปากมีขนาดใหญ่และเฉียงขึ้นข้างบน ดวงตากลมโต และอยู่ค่อนไปทางสันหลังกลับกลอกไปมาได้ สีของครีบหลังและครีบก้นเป็นสีส้มอมเหลือง ขอบครีบเป็นสีดำ ครีบหลังส่วนหน้ามีก้านครีบแข็ง
นิสัย
ปลาเสือมีความสามารถพิเศษอยู่สองประการ คือ สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่เหนือน้ำ ได้เป็นระยะห่าง 3 - 5 ฟุต และอีกประการหนึ่ง คือ สามารถพ่นน้ำได้สูงถึง 1.5 เมตร จากผิวน้ำ พ่นน้ำได้โดยแรงดันอย่างรวดเร็วของแผ่นปิดเหงือกกับช่องเล็กๆ ใต้เพดานปาก เพื่อให้เหยื่อตกลงมาและจับกินได้ เป็นปลาที่ก้าวร้าว ชอบอยู่รวมเป็นฝูง และลอยตัวอยู่ผิวน้ำ เพื่อคอยจับแมลงผิวน้ำกิน
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย อยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงที่มีทางเชื่อมติดต่อกับแม่น้ำและตามบริเวณปากแม่น้ำ
อาหาร

แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกน้ำ แมลงที่บินอยู่เหนือผิวน้ำ

ปลาเสือสุมาตรา


ชื่อสามัญ : Sumatran Tiger Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Systomus partipentazona
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก จัดอยู่ในสกุลเดียวกับปลาตะเพียน มีขนาดความยาวประมาณ 3 - 6 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน ลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง พื้นลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล ปากและครีบทุกครีบจะมีสีแดง เกล็ดสีเหลืองอมเขียวและสีเหลืองอมน้ำตาล ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีแถบดำพาดขวางลำตัว 5 แถบ โดยพาดผ่านตา พาดผ่านหน้าครีบหลัง พาดผ่านโคนครีบหลัง พาดผ่านโคนครีบก้น และ บริเวณโคนหาง ปลาเสือสุมาตราตัวเมีย จะมีลำตัวที่ใหญ่และป้อมกว่าตัวผู้ แต่ตัวผู้จะมีรูปร่างเล็กเพรียวบางกว่าและมีสีเข้มจัดกว่าตัวเมีย
นิสัย
เป็นปลาที่ว่องไวปราดเปรียวไม่ค่อยอยู่นิ่ง ว่ายน้ำได้รวดเร็ว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีนิสัยก้าวร้าว

ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่ง อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบตามแม่น้ำ ลำธารและหนองบึง แพร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชาวนครสวรรค์เรียกว่าปลาข้างลาย ทางภาคใต้เรียกว่า เสือสุมาตรา
อาหาร
ลูกกุ้ง ลูกน้ำ ลูกไร แมลงน้ำและเศษซากพืชและสัตว์เน่าเปื่อย

ปลาสร้อยขาว (ปลาสร้อย หรือ ปลาสร้อยหัวกลม)


ชื่อสามัญ : Jullien's Mud Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Henicorhynchus siamensis
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวปราดเปรียว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็ก กึ่งกลางของริมฝีปากมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปลาในตระกูลนี้คือไม่มีหนวด ตามปกติจะหากินกันเป็นฝูง ๆ ขนาดความยาวประมาณ 7 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
พบทั่วไปทุกภาคของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
อาหาร
พืชน้ำ แมลงน้ำ
การสืบพันธุ์

ฤดูผสมพันธุ์จะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ แล้วจะอพยพตัวไปหาที่ที่เหมาะสมในการวางไข่

ปลาหมอตาล (ปลาอีตาล ปลาใบตาล หรือ ปลาวี)


ชื่อสามัญ : Temminck's Kissing Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helostma temmicki
ลักษณะทั่วไป
รูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนมากกว่าปลาหมอไทย หัว เล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้ริมฝีปากหนา นัยน์ตาอยู่ในระดับเดียวกันกับมุมปาก มีเกล็ดขนาดปานกลางปกคลุม ส่วนหัว และลำตัว ครีบท้อง และครีบก้นยาว ลำตัวเป็นสีเขียวปนเทา หลังสีเทาปนดำ ท้องสีขาว พบทั่วไปมีความยาว 15 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
อดทน เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน
อาหาร
พันธุ์ไม้น้ำ แมลงน้ำ

ปลาหมอช้างเหยียบ (ปลาหมอโค้ว หรือ ปลาก่า)


ชื่อสามัญ : Striped Tiger Nandid
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pritolepis fasciatus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อม ลำตัวด้านข้างแบน พื้นลำตัวสีเขียวหรือน้ำตาลปนเหลือง มีเกล็ด               ปกคลุมทั่วตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 8-12 แถบ หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้เล็กน้อย มีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นแถวอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง รูจมูกแยกจากกันอย่างเด่นชัดและอยู่ชิดกับตา ครีบหลังมีสองส่วนเชื่อมติดกันเป็นแนวยาว ส่วนหน้าเป็นก้านเดี่ยวมีลักษณะเป็นหนามแหลมคม
นิสัย
มีนิสัยก้าวร้าว มักกัดทำร้ายกันเอง
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย พบตามลำคลอง หนอง บึงทุกภาค
อาหาร
ไข่ปลาทุกชนิด ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลงน้ำ

ปลาสลาด (ปลาฉลาด, ปลาตอง, ปลาหางแพน, ปลาวาง)


ชื่อสามัญ : Grey Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Notopterus notopterus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างคล้ายปลากรายแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีจุดสีดำที่ครีบก้น ลำตัวมีสีขาวปนเทา ครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียว โดยทั่วไปมีขนาดความยาว 15 - 20 เซนติเมตร มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าเคยพบมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร
นิสัย
ขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน

ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำคลองทั่วไปของทุกภาคของไทย
อาหาร
ลูกปลา ลูกกุ้ง
การสืบพันธุ์
ไม่ปรากฏในรายงาน

ปลาสวาย


ชื่อสามัญ : Siriped Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasianodon hypophthalmus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงสกุลเดียวกับปลาเทโพ มีรูปร่างลักษณะความเป็นอยู่คล้ายกับปลาเทโพ ลำตัวยาว มีสันหลังค่อนข้างตรง ส่วนหน้าจะลาดไปถึงบริเวณปาก หน้าทู่ปากกว้างมีหนวด 2 คู่ ลำตัวมีสีนวลขาว บริเวณหลังมีสีเข้ม ครีบมีสีเหลืองอ่อน ปลาขนาดเล็กจะมีแถบสีดำคาดลำตัว ขนาดความยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในที่ร่มใกล้พันธุ์ไม้น้ำ เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ถิ่นอาศัย
ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงนครสวรรค์ และแม่น้ำโขง
อาหาร

พันธุ์ไม้น้ำ ลูกหอย หนอน ไส้เดือน

ปลาหางไหม้


ชื่อสามัญ : Bala Shark
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balantiocheilos melanopterus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน รูปร่างเพรียวยาว เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ครีบหางเว้าเป็นแฉกลึก ข้างลำตัวสีเงินวาว ครีบทุกครีบยกเว้นครีบหูเหลืองขลิบดำทางด้านหลัง
นิสัย
ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในแม่น้ำและลำธารทั่วไป ว่ายน้ำปราดเปรียว ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการกระโดดลอยสูงจากผิวน้ำได้สูงถึง 2 เมตร

ถิ่นอาศัย
พบปลาหางไหม้ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มลายู สุมาตราและบอร์เนียว
อาหาร
กุ้งขนาดเล็ก แมลงน้ำและสัตว์เล็กๆ อื่นๆ โดยการใช้ปากดูดจากซากหินและตะกอนก้นน้ำ ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ตกอยู่ในเดือนพฤษภาคม

ปลาบ้า (ปลาพวง)


ชื่อสามัญ : Hoeven's Slender Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptobarbus hoeveni
ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เป็นปลาที่มีลำตัวยาว ค่อนข้างกลม หัวโต นัยต์ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง มีหนวด 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนของหลังสีดำปนเทา ท้องสีขาวจาง ครีบหางสีชมพู ครีบอื่นสีแดงจาง ๆ ขนาดตามยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ ตื่นตกใจง่าย เลี้ยงง่าย โตเร็ว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียวว่องไว
ถิ่นอาศัย
อยู่ตามน้ำไหล จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ พิจิตร แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง
อาหาร

เมล็ดพืช และผลไม้ทุกชนิด

ปลาแรด


ชื่อสามัญ : Giant Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osphronemus goramy
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาหมอ ลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง เกล็ดมีขนาดใหญ่ หัวเล็กและป้าน ปากเฉียงขึ้นสามารถยืดหดได้ มีฟันแข็งแรง สันลำตัวส่วนที่อยู่ติดกับหัวจะโหนกสูงคล้ายนอแรด ครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างยาว และมีก้านเป็นหนามแข็ง ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 อัน ก้านครีบอ่อน 5 อัน ก้านครีบอ่อนคู่แรกมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ลักษณะคล้ายหนวดยาวเลยไปถึงปลายหาง ครีบหางมนกลมมีจุดสีดำที่โคนหางข้างละจุด สีสันของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามขนาดและอายุของปลา เมื่อยังเล็กพื้นลำตัวจะเป็นสีม่วงอมเหลืองและมีแถบสีดำข้างและ 8 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่อปลาโตขึ้นลำตัวด้านบนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำหรือสีเทา ด้านล่างเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้นาน ๆ หรือสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ๆ
นิสัย
เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และค่อนข้างเชื่องช้า มีนิสัยดุร้าย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม การวางไข่ของปลาชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น กล่าวคือมันจะใช้กิ่งไม้ ก้านไม้และวัตถุอื่นๆ มาสร้างรังคล้ายรังนก ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มีไขมันมาก ลอยน้ำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย ในแม่น้ำและหนองบึงที่มีทางน้ำติดต่อกันกับแม่น้ำ ภาคกลางพบที่แก่งกระจาน จังเหวัดเพชรบุรีและในลำน้ำเจ้าพระยาและสาขา ทางภาคใต้เรียกกันว่า ปลาเม่นหรือปลามิ่น พบในลำน้ำตาปีและสงขา
อาหาร
พืชแทบทุกชนิด

ปลาสลิด (ปลาใบไม้)


ชื่อสามัญ : Snake Skin Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster pectoralis
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีลำตัวแบน รูปร่างคล้ายใบไม้ และเหมือนกับปลากระดี่หม้อ แต่ไม่มีจุดดำบนลำตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวเป็นริ้ว ๆ หลายแถบ ตัวผู้จะมีสีและแถบเข้มกว่า ตัวเมีย ลักษณะของครีบหลังก็สามารถใช้แยกเพศได้เหมือนกันคือ ตัวผู้จะมีกระโดงหลังยาวกว่าตัวเมีย
นิสัย
ก้าวร้าว มักกัดทำร้ายกันเอง และ ทำร้ายปลาที่เล็กกว่าอยู่เสมอ อดทน เลี้ยงง่าย มักหลบซ่อนตัวอยู่ตามพุ่มไม้รก ๆ
ถิ่นอาศัย
ในแม่น้ำ หนองบึง น้ำนิ่งตามที่ต่างๆ และที่ลุ่มภาคกลาง
อาหาร
แมลงน้ำ ตัวอ่อน ลูกน้ำ ตะไคร่น้ำ แพลงตอน

ปลาบึก


ชื่อสามัญ : Mekong Giant Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasianodon gigas
ลักษณะทั่วไป
จัดเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวมีความยาวเกือบ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะยาวและแบนด้านข้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตามีขนาดเล็กไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงเลยมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวจะเป็นสีเทาออกแดงทางด้านหลัง ค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และสีขาวทางด้านใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบสีเทาจางๆ
นิสัย
รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล
ถิ่นอาศัย
ปลาบึกพบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย
อาหาร
สาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำเป็นอาหาร
การสืบพันธุ์
ฤดูวางไข่เชื่อว่าจะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่
เทคโนโลยีจับสัตว์น้ำ (เครื่องมือจับสัตว์น้ำ)
           เป็นบริเวณที่จัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการ กินอยู่อย่างไทย หาผักหาปลา พออยู่พอกิน ประกอบด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ชนาง ลอบยืน ลอบนอน ข้อง เบ็ด อวน แห ฉมวก สุ่ม สวก เป็นต้น
ข้อง


ข้อง เป็นเครื่องมือจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้อง มีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลม

ชนาง
ชนาง เป็นเครื่องมือสำหรับช้อนปลาหรือช้อนกุ้งในแม่น้ำลำคลอง ชนางที่ใช้กันอยู่ใน พื้นบ้านมี 3 ชนิด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่
- ชนางขนาดเล็ก สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด มีลักษณะปากกว้างก้นสอบลึก คล้ายบุ้งกี๋ มีขอบเป็น    ไม้ไผ่หวายหรือไม้เพื่อใช้เป็นมือจับ และทำให้มีความแข็งแรงและทนทานในการใช้งาน ชนางขนาดเล็กจะใช้ไม้ไผ่สีสุกนำมาผ่าแล้วจักเป็นตอก หากตอกยาวชนางจะกว้างใหญ่ ขนาดของชนางจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สานและผู้ใช้ ชนางขนาดเล็กเวลาใช้จะจับที่ขอบปากชนางช้อนเข้าหาตัว ในลักษณะเดินถอยหลัง หรือ  จับขอบส่วนกึ่งกลางของชนางทั้ง 2 ข้าง เดินช้อนไปข้างหน้าก็ได้ ชนางขนาดเล็กนิยมใช้บริเวณห้วงน้ำแคบ ๆ ใช้ช้อนกุ้งและปลาตัวเล็ก
- ชนางขนาดกลาง มีลักษณะเหมือนกับชงโลงวิดน้ำ แต่แทนที่จะสานด้วยตอกไม้ไผ่ ก็จะเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นกลมเล็กมัดด้วยเส้นหวายหรือลวดสูงท่วมหัวคน มีความกว้าง 2 –3 เมตร ถ้ามัดห่างกันมากปลาก็จะลอดออกไปได้ง่าย แต่ถ้ามัดชิดกันเวลาใช้จะหนักมาก เพราะน้ำไม่สามารถลอดช่องไม้ไผ่ไปได้สะดวกนัก ถ้าใช้    ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ผูกเป็นโครงรูปสามเหลี่ยม มัดด้วยหวายหรือลวด ก้นชนางใช้ไม้ไผ่ไขว้กันเป็นกากบาท เพื่อใส่บริเวณเอวเวลาช้อนปลา ปากชนางจะมีขนาดใหญ่ก้นจะสอบลุก ชนางประเภทนี้มักใช้กับเรือพายโดยมีคนพายท้ายเรือ ส่วนคนที่อยู่หัวเรือจะเป็นคนช้อนปลา เอาไม้ส่วนที่เป็นกากบาทไขว้กันนั้นไว้ตรงเอวเพื่อจะยก         ได้สะดวก ตอนพายเรือให้ปากชนางจุ่มลงไปใต้ผิวน้ำ หันปากชนางไปข้างหน้า เมื่อถึงแหล่งที่คาดว่ามีปลาอาศัยอยู่ก็ยกปากชนางขึ้นเมื่อได้ปลาก็จะจับใส่ข้องหรือทิ้งไว้ในลำเรือ ชนางขนาดกลางบางแห่งเรียกว่า คัดซ้อน     ซึ่งถักเป็นตาข่ายขอบเป็นสามเหลี่ยมมีด้ามจับใช้เรือพาย
- ชนางขนาดใหญ่ ชนางประเภทนี้จะใหญ่มาก ไม่สามารถจับหรือช้อนปลาไปข้างหน้าได้ มีรูปคล้ายสามเหลี่ยมก้นลึก ทำโครงไม้ไผ่โค้งเพื่อให้จับปลาไปอาศัยอยู่ภายในชนางได้ สานด้วยผิวไม้ไผ่ยาวเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยม มีขาเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ เวลาใช้หย่อนตัวชนางลงไปในน้ำ ให้ปลายขาไม้ไผ่โผล่พ้นน้ำ ใช้เศษไม้ใบหญ้า อาหาร เช่น รังมดแดง รังปลวกใส่ไปในตัวชนาง ทิ้งชนางไว้นาน ๆ หลายวัน เมื่อคาดว่าปลาไปอาศัยอยู่ในน้ำแล้ว จะใช้คน 2 คน ช่วยกันยกชนางขึ้น ชนางประเภทนี้มักวางไว้ริมฝั่งแม่น้ำที่ลึก ๆ หรืออาจวางตักปลาในกลางแม่น้ำ เวลากู้ชนางก็พายเรือไปเพื่อยกชนางขึ้น ก้นชนางจะมีรูปิดเปิด เพื่อให้ปลาลอดช่องลงมาใส่ ปากข้อง หรือปากกระชังที่เตรียมรองรับปลาไว้

ไซ
       ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ผูกร้อยซี่ไม้ไผ่ด้วยหวายเถาวัลย์ ตอกเป็นลวด ใส่งาแซง   เป็นช่องทางให้ปลา กุ้ง ปู เข้าไปภายใน ไซมีหลายลักษณะ วิธีการทำและการใช้ แตกต่างกันไป เช่น   ไซปากแตร ทำเป็นรูปกรวย ปากไซบานออกเป็นรูปแตร มักใช้กะลามะพร้าวเป็นฝาปิดเปิด เทปลาออกด้านนี้ ส่วนกลางไซคอดมีงาแซงสำหรับเป็นช่องทางเข้าของปลา ไซปากแตรจะใช้หวายผูกร้อยซี่ไม้ไผ่เป็นช่องถี่ ๆ แม้แต่กุ้ง และปลาตัวขนาดเล็กเล็ดลอดออกไม่ได้ ไซปากแตรมีความยาวตั้งแต่ 1 – 2 เมตร เวลาดักไม่ใส่เหยื่อล่อไว้ภายในแต่วางดักไว้ตามคันนา

ตุ้ม

       ตุ้ม เป็นเครื่องมือดักปลา สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกับอีจู้ดักปลาไหล มีงาแซงอยู่ริมก้นตุ้มเช่นเดียวกัน แต่ตุ้มมีงา 2 ชั้น ไม่มีกะพล้อใส่เหยื่อล่อเหมือนอีจู้ แต่มีงายาวเรียกว่า งาโข่งตุ้มสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด เริ่มต้นสานส่วนก้นมีตาเหลี่ยมช่องทึบกว่าอีจู้ แล้วสานต่อข้างบนเป็นลายขัดทึบ ขนาดของตุ้มสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร จนเกือบ 1 เมตร ตุ้มมีหลายประเภท เช่นตุ้มบอง

ลอบ

         ลอบ เป็นเครื่องมือดักจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบมีช่องว่างให้ปลาว่ายเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบที่ใช้อยู่ในพื้นบ้านมีอยู่ 3 ประเภท คือ ลอบนอน ลอบยืน และลอบกุ้ง

สุ่ม
         สุ่ม เป็นเครื่องมือสำหรับครอบปลา สานด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นตา ๆ หรือถักหวายเถาวัลย์และลวด สุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มที่มีขนาดกว้างใหญ่

อีจู้

อีจู้ เป็นเครื่องดักปลาไหลชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีงาแซงอยู่ริมก้นใส่เหยื่อไว้ในกะพล้อ บางแห่งเรียกอีจู้ว่า กระจู้ หรือจู้

แห

       แหเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายตามหมู่บ้านชาวประมงโดยทั่วไป ทั้งในน่านน้ำเค็มและน้ำจืด แหทุกชนิดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อแผ่ออกจะเป็นรูปวงกลม ขอบตีนแหจะมีโซ่ทำด้วยเหล็กหรือตะกั่วขนาดความหนา 2 มม. เพื่อใช้ถ่วงแหให้จมตัวได้เร็ว วิธีการผูกโซ่ที่ตีนแห มีทั้งแบบที่เรียกว่า ทบเพลา และแบบไม่ทบเพลา

อวนล้อมจับ
       ลักษณะเป็นผืนอวนคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า   หลักการ คือ ใช้วิธีปล่อยผืนอวนล้อมรอบสัตว์น้ำเป็นวงกลมหรือรูปไข่เพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของสัตว์น้ำในแนวราบ ส่วนในแนวดิ่งใช้ความลึกของอวนสกัดกั้นตัดหน้าฝูงสัตว์น้ำ ปิดด้านล่างของผืนอวน ทำการกู้อวนแล้วตักสัตว์น้ำขึ้นเรือ ชนิด: อวนล้อมจับมีสายมาน และอวนล้อมจับไม่มีสายมาน

บั้งลัน" เป็นอุปกรณ์สำหรับจับเอี่ยนหรือปลาไหลโดยเฉพาะ
           บั้งลันทำมาจากไม้ไผ่ลำโต ขนาดเท่าแขนผู้ใหญ่ ความยาวของลำไม้ไผ่ที่นำมาทำบั้งลันนั้นยาวประมาณ ๓-๔ ปล้องของลำไผ่เมื่อได้ลำไผ่มาแล้วก็จะทะลวงปล้องไผ่ ให้ทะลุถึงกัน  โดยเหลือข้อปล้องสุดท้ายไว้ ด้านบนเปิดโล่งไว้เพื่อทำเป็นปากกระบอกสำหรับใส่ ฝาละไง   (เป็นชิ้นส่วนที่ทำจากตอกสานเป็นฝาเพื่อปิด   ปากกระบอ)

แงบ , แงบกบ
      
แงบทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปร่างคล้ายกระเป๋าขนาด 20 x 30 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร ใส่งาไม้ไผ่ ส่วนด้านท้ายของแงบสามารถเปิดได้เพื่อเอากบออก เวลาใช้ดักกบจะใช้ไม้ไผ่ขัดไว้เพื่อป้องกันกบหนีออก

สะหวิง     

         เป็นเครื่องมือทำมาหากินแต่โบราณโดยนำสะหวิงไปช้อนเอากุ้งหอยปูปลา ฮ้วกและกบน้อย ใช้ได้ทั้งในน้ำตื้นและน้ำลึก ขอบทำด้วยไม้ไผ่ ตาข่ายทำจากด้ายสานเป็นตาคล้ายแห แต่ผืน เล็กๆ นำมาประกอบเข้าด้วยกัน

เบ็ดราว

       ลักษณะ เครื่องมือชนิดนี้ประกอบด้วยเส้นเชือก หรือสายลวดทำเป็นสายคร่าวเบ็ด ยาวตามความต้องการ     ที่พบใช้กันในน่านน้ำจืดนั้น หรือยาวกว่านั้นก็มี เขาใช้เบ็ดเบอร์ 4 – 8 หรือเล็กกว่านี้ก็ได้สุดแท้แต่จะทำการจับ

ยอขันช่อ
       ลักษณะเป็นเครื่องมือยอชนิดหนึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่ายอธรรมดามาก การยกกว้านขึ้นลงจะอาศัยคานดีด ประกอบด้วยจุดหมุน ทำให้สามารถยกขึ้นโดยแรงของคน ๆ เดียว ลักษณะของเครื่องมือ เช่นเดียวกับยอทั่วไป คือ ประกอบเป็นเนื้ออวนที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคันยอและไม้กว้านใช้ทำการจับสัตว์น้ำ

เทคโนโลยีชีวภาพกับการขยายพันธุ์สัตว์

    เทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึง การนำเอาสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตมาปรับปรุง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น การขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตของสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพมีหลายวิธี เช่น การผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน การโคลนนิ่ง พันธุวิศวกรรม

1. การผสมเทียม (Artificial Insemination)

    การผสมเทียม คือ การทำให้เกิดการปฏิสนธิในสัตว์โดยไม่ต้องมีการร่วมเพศตามธรรมชาติ โดยมนุษย์เป็นผู้ฉีดน้ำเชื้อของสัตว์ตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมีย เพื่อให้อสุจิผสมกับไข่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นผลให้ตัวเมียตั้งท้องขึ้น
การผสมเทียมสามารถทำได้ทั้งในสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายใน ได้แก่ วัว กระบือ สุกร และสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอก ได้แก่ ปลาที่มีการปฏิสนธิภายนอก เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สก ปลาดุก ปลาบึก เป็นต้น

1.1 การผสมเทียมปลา

    การผสมเทียมปลา มีวิธีการดังนี้
1.) คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่สมบูรณ์ มีน้ำเชื้อดีและมีไข่มากจากปลาที่กำลังอยู่ในวัยผสมพันธุ์ได้
2.) ฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลา เพื่อเร่งให้แม่ปลามีไข่สุกเร็วขึ้น ฮอร์โมนที่ฉีดนี้ได้จาการนำต่อมใต้สมองของปลาพันธุ์เดียวกันซึ่งเป็นเพศใดก็ได้ นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมน้ำกลั่นฉีดเข้าที่บริเวณเส้นข้างลำตัวของแม่ปลา
3.) หลังจากฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลาแล้วประมาณ 5-12 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดและน้ำหนักของแม่ปลา ต่อจากนั้นจึงรีดไข่และน้ำเชื้อจากแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่เลือกไว้ใส่ภาชนะใบเดียวกัน
4.) ใช้ขนไก่คนไข่กับน้ำเชื้อเบา ๆ เพื่อคลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วใส่น้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที จึงถ่ายทิ้งประมาณ 1-2 ครั้ง

    

5.) นำไข่ที่ผสมแล้วไปพักในที่ที่เตรียมไว้ ซึ่งต้องเป็นที่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา เพื่อให้ไข่ลอยและป้องกันการทับถมของไข่ ทิ้งไว้จนกระทั่งไข่ปลาฟักออกเป็นลูกปลาในเวลาต่อมา

2. การโคลนนิ่ง (Cloning)

      การโคลนนิ่ง คือ การคัดลอกพันธุ์หรือการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้อาศัยการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย แต่ใช้เซลล์ร่างกายในการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่

3. พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)

      พันธุวิศวกรรมหรือการตัดแต่งยีน คือ การใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปถ่ายฝากให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากพันธุ์ที่มีในธรรมชาติ ปัจจุบันการตัดแต่งยีนในพืชและสัตว์ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้มีการพยายามนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. การเพิ่มผลผลิตโปรตีนที่สำคัญและหายาก เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน วัคซีนคุ้มกันโรคตับอักเสบชนิดบี วัคซีนคุ้มกันโรคปากเท้าเปื่อยต่าง ๆ เป็นต้น
2. การปรับปรุงพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การผลิตยาปฏิชีวนะ การหมัก การกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น
3. การตรวจและแก้ไขความบกพร่องทางพันธุกรรมของมนุษย์ พืช และสัตว์ด้วยวิธีที่แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย ปัญญาอ่อน และยีนเกิดมะเร็ง
4. การปรับปรุงพันธุของสัตว์ เช่น การนำยีนจากปลาใหญ่มาใส่ในปลาเล็ก แล้วทำให้ปลาเล็กตัวโตเร็วขึ้น มีคุณค่าทางอาหารดีขึ้น เป็นต้น

4. การเพิ่มผลผลิตของสัตว์

    ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น การผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน การโคลนนิ่ง ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ  มาช่วยเพิ่มผลผลิต ดังนี้
1. การใช้ฮอร์โมนช่วยการขุนวัว เพื่อให้วัวพื้นเมืองเพศเมียมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ
2. การฉีดวัคซีนเร่งความสมบูรณ์พันธุ์และเร่งอัตราการเจริญเติบโตของกระบือ เพื่อให้กระบือเพศเมียตกลูกตั้งแต่อายุน้อยได้ลูกมาก และเร่งอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มผลผลิตเนื้อในกระบือเพศผู้ อย่างไรก็ดีการใช้เทคโนโลยีในบางกรณีก็อาจประสบกับปัญหาหรืออุปสรรคได้ ตัวอย่างเช่น การผสมเทียมปลามีการพัฒนามากขึ้นจนสามารถนำไปใช้กับปลาหลายชนิด เช่น ปลาบึก ปลาสวาย ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก ปลานิล เป็นต้น

5. ด้านอุตสาหกรรม

    1. การผสมเทียมสัตว์บกและสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการแช่เย็นเนื้อสัตว์และการผลิตอาหารกระป๋อง
    2. พันธุวิศวกรรม โดยนำผลิตผลของยีนมาใช้ประโยชน์และผลิตเป็นอุตสาหกรรม เช่น ผลิตยา ผลิตวัคซีน น้ำยาสำหรับตรวจวินิจฉัยโรค ยาต่อต้านเนื้องอก ฮอร์โมนอินซูลินรักษาโรคเบาหวาน ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของคน เป็นต้น
    3. ผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ได้มีการทดลองทำในหมู โดยการนำยีนสร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของวัวและของคนมาฉีดเข้าไปในรังไข่ที่เพิ่งผสม พบว่าหมูจะมีการเจริญเติบโตดีกว่าหมูปรกติ
    4. ผลิตสัตว์แปลงพันธุ์ให้มีลักษณะโตเร็วเพิ่มผลผลิต หรือมีภูมิต้านทาน เช่น แกะที่ให้น้ำนมเพิ่มขึ้น ไก่ที่ต้านทานไวรัส
6. ด้านอาหาร
1. เพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ สัตว์บก ได้แก่ กระบือ สุกร ส่วนสัตว์น้ำมีทั้งสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำเค็มจำพวกปลา กุ้ง หอยต่าง ๆ ซึ่งเนื้อสัตว์เป็นแหล่งสารโปรตีนที่สำคัญมาก
2. เพิ่มผลผลิตจากสัตว์ เช่น น้ำนมวัว ไขเป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น
3. เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตของสัตว์ เช่น เนย นมผง นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต เป็นต้น ทำให้เรามีอาหารหลากหลายที่ให้ประโยชน์มากมาย
การอนุรักษ์สัตว์น้ำ
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญหลายชนิดและระบบนิเวศสู ง  แต่การสูญพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพสูงจัดเป็นอันดับสองในทวีปเอเชีย  เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ 
กระบวนการในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
1. กำหนดกฎเกณฑ์การประมง (Fisery regulation)  มิให้การประมงเกินขนาดจับสัตว์เล็กมาใช้ประโยชน์ก่นการเจริญเติบโต
2. ป้องกันอันตรายที่เกิดกับสัตว์น้ำ  มลพิษทางน้ำและภาวะน้ำเสีย
3.การปรับปรุงถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำเพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตการแพร่พันธุ์  ให้มาเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำ
4. การแพร่พันธุ์สัตว์น้ำลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ
กลยุทธในการอนุรักษ์
1. เพิ่มความรู้  ความสามารถ  ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสัตว์น้ำ
2. สร้างสมรรถนะและความสำคัญให้แก่สัตว์น้ำ  เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมความเข็มแข็งให้แก่การอนุรักษ์ฟื้นฟูและคุ้มครองระบบนิเวศ
4. ส่งเสริมประสิทธิภาพของการอนุรักษ์ความหลากหลายของชนิดพันธุ์
5. ควบคุม  ดูแล  และลดการคุกคามที่มีต่อสัตว์น้ำ
6.สร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน  ในการอนุรักษ์ความหลากหลายของสัตว์น้ำ  โดย
สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีไทย

การอนุรักพันธุ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
ประกอบด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม      รักษาระบบนิเวศในแหล่งน้ำให้ความรู้ผู้ใช้ประโยชน์สัตว์น้ำในพื้นที่  ปลูกฝังจิตสำนึกผู้ใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ  การใช้เทคโนโลยีจับสัตว์น้ำที่เหมาะสมเลี้ยงชีพและการประมงอย่างพอเพียง

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น
ถนนมิตรภาพ ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 40110
Tel. 043-274154-5 Fax. 043-274046