บทเรียนออนไลน์
 -  ความหมายของเกษตรธรรมชาติ
 -  หลักเกษตรธรรมชาติ
 -  ความหมายของดิน
 -  ความสำคัญของดิน
 -  องค์ประกอบของดิน
 -  ดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก
 -  หน้าที่และความสำคัญของดินที่มีต่อ
    การเจริญเติบโตของพืช
 -  ธาตุอาหารในดิน
 -  สาเหตุที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์
 -  การอนุรักษ์และพัฒนาดิน
 -  การปรับปรุงดินโดยใช้หลัก
    เกษตรธรรมชาติ
 -  เกษตรธรรมชาติมีแนวทางและข้อดี

 -  การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธี
    เกษตรธรรมชาติ

 -  การป้องกันและกำจัดวัชพืช
 -  การป้องกันและกำจัดโรคและแมลง
    ศัตรูพืช
บทเรียนวิทยาศาสตร์ออนไลน์   เรื่อง  เกษตรธรรมชาติ

ความหมายของเกษตรธรรมชาติ
        เกษตรธรรมชาติ หมายถึง การทำการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด แต่จะให้ความสำคัญของดินเป็นอันดับแรก ด้วยการปรับปรุงดินให้มีความเหมาะสมในการเพาะปลูก เหมือนกับดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นระบบเกษตรที่มีความยั่งยืน ถาวร เป็นอาชีพที่มั่นคง

        ระบบเกษตรยั่งยืนควรมีลักษณะการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรที่เลียนแบบระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ คือมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีกลไกควบคุมตัวเอง มีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกน้อยที่สุดตามความจำเป็น สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพยายามลดการใช้สารเคมี โดยการใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน กล่าวคือควรให้ความสำคัญกับระบบการปลูกพืชที่เกื้อกูลกันเพื่อสร้างความสมดุลตามธรรมชาติในระบบการเกษตร (สุพัตรา, ๒๕๔๐: ๗๖-๗)

หลักเกษตรธรรมชาติ
        ถ้าเราศึกษาสภาพป่าเราจะเห็นว่าในป่ามีต้นไม้นานาชนิดขึ้นปะปนกันอยู่เต็มไปหมด ผิวดินถูกปกคลุมไปด้วยใบไม้ที่หล่นทับถมกัน สัตว์ป่าถ่ายมูลไว้ที่ผิวหน้าดินคลุกเคล้ากับใบไม้และซากพืช มูลสัตว์รวมทั้งซากสัตว์ โดยมีสัตว์เล็ก ๆ เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ จิ้งหรีด ฯลฯ กัดแทะเป็นชิ้นเล็ก ๆ และมีจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินช่วยย่อยสลายจนกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่านั่นเอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเอาปุ๋ยเคมีไปใส่ในป่า ซึ่งเกษตรกรสามารถเลียนแบบป่าได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ยชีวภาพ เช่น ไรโซเบียม ไมโครไรซ่า เป็นต้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ใบไม้และเศษพืชที่ปกคลุมผิวดินก็เป็นการคลุมผิวหน้าดินไว้ ป้องกันการสูญเสียความชื้นภายในดินทำให้หน้าดินอ่อนนุ่มสะดวกต่อการไชชอนของรากพืช ถ้าศึกษาต่อไปจะพบว่า แม้ไม่มีใครนำเอายาฆ่าแมลงไปฉีดพ่นให้ต้นไม้ในป่า แต่ต้นไม้ในป่าก็เจริญเติบโตแข็งแรงต้านทานโรคและแมลงได้ตามธรรมชาติ ถึงแม้จะมีโรคและแมลงรบกวนบ้างก็ไม่ถึงขั้นเสียหายและยังสามารถให้ผลผลิตได้ตามปกติ นั่นก็คือ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ นอกจากนี้พืชในป่าก็มิได้เป็นพืชชนิดเดียวกันทั้งหมด แต่เป็นพืชหลากหลายชนิดทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลง และแมลงบางชนิดก็เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช ดังนั้นจึงเกิดสมดุลตามธรรมชาติโอกาสที่แมลงศัตรูพืชจะระบาดจนเกิดความเสียหายจึงมีน้อย ดังนั้นเกษตรกรจึงสามารถจำลองสภาพป่าไว้ในไร่-นาโดยการปลูกพืชให้หลากหลายชนิดความสำคัญของเกษตรธรรมชาติ
          สืบเนื่องจากการทำการเกษตรในปัจจุบันเป็นการเกษตรแบบใช้สารเคมี ส่งผลให้สภาพของดินในการทำการเพาะปลูกในปัจจุบันเสื่อมลง ปลูกพืชได้ผลผลิตต่ำ ลงทุนสูงขึ้น การใช้สารเคมียังทำลายระบบนิเวศให้เสียสมดุล ไม่มีการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตและยังมีสารพิษตกค้างในผลผลิตซึ่งเป็นอันตรายสะสมในร่างกายของผู้บริโภค ทำให้อายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์มีอายุสั้นลงจากแต่ก่อน หากเราใส่ใจทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาสารเคมี เน้นการบำรุงดินโดยวิธีทางชีวภาพ จะมีความปลอดภัยทั้งกับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ เรื่อง เกษตรธรรมชาติอย่างเข้าใจ จึงเป็นทางเลือกของการทำการเกษตรอย่างปลอดภัย เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศในดิน และไม่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

ความหมายของดิน
          ดิน คือ วัตถุตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากผลของการผุพังสลายตัวของหินและแร่ ต่างๆ ผสมคลุกเคล้ารวมกับอินทรียวัตถุหรือ อินทรีย์สารที่ได้มาจากการสลายตัวของเศษซากพืชและสัตว์จนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะร่วนไม่เกาะกันแข็งเป็นหิน เกิดขึ้นปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเจริญเติบโตของพืช คนทั่วไปมักมองดินแตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ที่ตนเองเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเกษตรกรจะมองดินในรูปของความอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้ดี ส่วนวิศวกรจะมองในรูปของวัสดุที่ใช้ในการสร้างถนนหนทาง เป็นต้น

ความสำคัญของดิน
          สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยดินในการยังชีพและเจริญเติบโต สำหรับมนุษย์แล้วดินเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพ เพราะเราได้อาศัยดินสำหรับปลูกพืชที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

องค์ประกอบของดิน
          ส่วนประกอบของดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช โดยทั่วไปดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกพืช ควรประกอบไปด้วย
ส่วนประกอบ 4 ส่วน ดังนี้

1. อนินทรียวัตถุ
            อนินทรียวัตถุ หรือ แร่ธาตุ เป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณมากที่สุดในดินทั่วไป ได้มาจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่
อนินทรียวัตถุ อยู่ในดินในลักษณะของชิ้นส่วนที่เรียกว่า อนุภาคดิน ซึ่งมีหลายรูปทรงและมีขนาดแตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มอนุภาคขนาดทราย (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00-0.05 ม.ม.)
2. กลุ่มอนุภาคขนาดทรายแป้ง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.05-0.002 ม.ม.)
3.กลุ่มอนุภาคขนาดดินเหนียว (เส้นผ่าศูนย์กลาง < 0.002 ม.ม)
อนินทรีย์วัตถุ หรือ แร่ธาตุในดินนี้ เป็นส่วนที่สำคัญในการควบคุมลักษณะของเนื้อดิน เป็นแหล่งกำเนิดของธาตุอาหารพืช และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดิน นอกจากนี้อนุภาคที่อยู่ในกลุ่มขนาดดินเหนียวยังเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการเกิดกระบวนการทางเคมีต่างๆ ในดินด้วย
2. อินทรีย์วัตถุ
            อินทรีย์วัตถุในดิน ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ส่วนของซากพืชซากสัตว์ที่กำลังสลายตัว เซลล์จุลินทรีย์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และในส่วนที่ตายแล้ว ตลอดจนสารอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลาย หรือส่วนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่รวมถึงรากพืช หรือเศษซากพืช หรือสัตว์ที่ยังไม่มีการย่อยสลาย
            อินทรีย์วัตถุในดินนี้ เป็นแหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืช และเป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน อีกทั้งยังเป็นส่วนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสมบัติต่างๆ ของดินทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น โครงสร้างดิน ความร่วนซุย การระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศ การดูดซับน้ำและธาตุอาหารของดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความสามารถในการให้ผลผลิตของดินอีกด้วย
3. น้ำในดิน
            น้ำในดิน หมายถึง ส่วนของน้ำที่พบอยู่ในช่องว่างระหว่างอนุภาคดินหรือเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูก และการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน และเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายอาหารพืชจากรากไปสู่ส่วนต่างๆของพืช
4. อากาศในดิน
            หมายถึง ส่วนของก๊าซต่างๆ ที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีน้ำอยู่ ก๊าซที่พบโดยทั่วไปในดิน คือ ก๊าซไนโตรเจน (N2) ออกซิเจน (O2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งรากพืชและจุลินทรีย์ดินใช้ในการหายใจ และสร้างพลังงานในการดำรงชีวิต

ดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก
            พืชส่วนใหญ่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความร่วนซุย มีปริมาณน้ำ อากาศ และธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอย่างเพียงพอ


ภาพแสดง ส่วนประกอบของดินที่เหมาะสมแก่การปลูกพืชเป็นเปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร

               ดังนั้นดินที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชโดยทั่วไปจึงควรมีสัดส่วนขององค์ประกอบที่เป็นของแข็ง หรืออนินทรีย์วัตถุซึ่งได้มาจากการสลายตัวของหินและแร่ อันเป็นแหล่งที่มาของธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุที่ได้มาจากการสลายตัวของเศษซากสิ่งมีชีวิต อยู่รวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาตรทั้งหมด
               สำหรับส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนั้นควรจะเป็นที่อยู่ของน้ำและอากาศ ซึ่งจะแทรกอยู่ตามช่องว่างเล็กๆ ในดิน โดยช่องว่างเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการเรียงตัวเกาะยึดกันของอนุภาคขนาดต่างๆ ในดิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำและอากาศในดินจะมีอยู่ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของช่องว่างที่มีอยู่ในดินนั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในสภาพของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น จำเป็นต้องมีน้ำและอากาศในดินในปริมาณที่สมดุลกัน เพราะถ้าช่องว่างในดินมีอากาศอยู่มากก็จะมีที่ให้น้ำเข้ามาแทรกอยู่ได้น้อย พืชที่ปลูกก็จะเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำ แต่ถ้าในช่องว่างมีน้ำมากเกินไป รากพืชก็จะขาดอากาศหายใจ ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักได้

หน้าที่และความสำคัญของดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช
                หน้าที่และความสำคัญของดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชและการเกษตรกรรม กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
1. ดินทำหน้าที่เป็นที่ให้รากพืชได้เกาะยึดเหนี่ยวเพื่อให้ลำต้นของพืชยืนต้นได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ขณะที่พืชเจริญเติบโต รากของพืชจะเติบโตชอบไชหยั่งลึกแพร่กระจายลงไปในดินอย่างกว้างขวางทั้งแนวลึกและแนวราบ ดินที่ร่วนซุยและมีชั้นดินลึก รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง สามารถเกาะยึดดิน ต้านทานต่อลมพายุไม่ทำให้ต้นพืชล้มหรือถอนโคนได้
2. ดินเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้งนี้เนื่องจากธาตุอาหาร พืชจะถูกปลดปล่อยออกจากอินทรียวัตถุ และแร่ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดิน ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย
3. ดินเป็นแหล่งที่เก็บกักน้ำหรือความชื้นในดิน ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดได้ง่าย เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและสร้างการเจริญเติบโต น้ำในดินจะต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเท่านั้น ที่รากพืชสามารถดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ การรดน้ำพืชจนขังแฉะรากพืชไม่สามารถดึงดูดน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ จะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด
4. ดินเป็นแหล่งที่ให้อากาศในดิน ที่รากพืชใช้เพื่อการหายใจรากพืชประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ต้องการออกซิเจนสำหรับการหายใจทำให้เกิดพลังงานเพื่อการดึงดูดน้ำ ธาตุอาหารและการเจริญเติบโต ดินที่มีการถ่ายเทอากาศดี รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง ดูดน้ำและ ธาตุอาหารได้มาก ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรงและให้ผลิตผลสูง

ธาตุอาหารในดิน
                ธาตุอาหารพืชในดิน 13 ธาตุ นั้นมีดังนี้คือ
กลุ่มที่ 1 ไนโตเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สามธาตุนี้พืชมักต้องการเป็นปริมาณมาก แต่มักจะมีอยู่ในดินไม่ค่อยพอกับความต้องการของพืชที่ปลูก ต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ เฉพาะธาตุอาหารในกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะขอกล่าวไว้พอสมควรในที่นี้
กลุ่มที่ 2 แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน สามธาตุนี้พืชต้องการมากเหมือนกัน บางธาตุก็ไม่แพ้กลุ่มที่หนึ่ง แต่ธาตุทั้งสามนี้โดยปกติมักอยู่ในดินค่อนข้างมากเพียงพอกับความต้องการของพืชทั่วๆ ไป เมื่อเราใส่ปุ๋ยสำหรับธาตุในกลุ่มที่ 1 ธาตุในกลุ่มที่ 2 นี้ก็มักจะติดมาด้วยไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาเกิดการขาดหรือมีไม่ พอเพียงกับความต้องการของพืช
กลุ่มที่ 3 เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน ธาตุทั้งเจ็ดนี้ พืชโดยทั่วไปมีความต้องการเป็นปริมาณน้อยมาก เราจึงเรียกธาตุในกลุ่มที่ 3 นี้ว่า จุลธาตุอาหาร ธาตุพวกนี้บางธาตุถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมากเช่นเหล็กและแมงกานีส ก็จะกลับกลายเป็นพิษแก่พืชได้ อย่างไรก็ตามธาตุพวกนี้รวมทั้งในกลุ่มที่ 2 ต่างก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่าเทียมกันหมด และมีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่ 1 ด้วยเช่นกัน ถ้ามีธาตุใดขาดไป หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช พืชก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโตและจะตายไปในที่สุด ธาตุอาหารในกลุ่มที่ 3 นี้ก็เช่นเดียวกัน

สาเหตุที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์หลายประการที่สำคัญ คือ
1. การเผ้าถางจนเตียนและไม่มีพืชคลุมดิน เมื่อฝนตกน้ำจะชะเอาผิวดินที่มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ให้ไหลตามน้ำไปวิธีการแก้ไขในเรื่องนี้คือจะต้องปลูกพืชคลุมดินไว้เสมอ
2. การทำไร่สวนบนที่เนินการเพาะปลูกบนไหล่เขาหรือความลาดเอียงมาก การไถ่เป็นร่องจากที่สูงลงไปที่ต่ำ ฝนจะชะหน้าดินลงไปที่ต้นเนินได้ง่าย ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ควรไถ่เป็นร่องขวางสกัดทางลาด หรือทำเป็นขั้นบันไดรอบเนิน หรือปลูกพืชสลับแนวก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ฝนชะหน้าดินและปุ๋ยไปได้
3. การปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำซาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปุ๋ย และแร่ธาตุบางอย่างหมดไป ปีหลังๆ จะได้ผลน้อยลงทุกที จึงควรแก้ไขโดยการปลูกพืชต่างๆ หมุนเวียนสลับกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลถั่วจะทำให้ดินกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
4. การขาดความรู้ในการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องทำให้ดินเสื่อมลงเรื่อยๆ จึงควรจะศึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ยต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยสด ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี (ชาวบ้านเรียกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์)
5. การเผาพืชหรือหญ้าในไร่นาจะทำให้แร่ธาตุอาหารุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช รวมถึงจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งช่วยทำให้ดินดีขึ้นต้องต้องสูญเสียไป เป็นการทำลายความสมบูรณ์ของดิน

การอนุรักษ์และพัฒนาดิน
            การอนุรักษ์ หมายถึง การใช้อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตลอดจนการนำสิ่งที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่หรือหาสิ่งอื่นมาทดแทน
            การอนุรักษ์และพัฒนาที่ดิน หมายถึง การรู้จักใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มีการสูญเปล่าน้อยที่สุด และมีการสร้างหรือทำให้ดินมีมากขึ้น การอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินสามารถทำได้โดย
           1. ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อไม่ให้น้ำชะเอาแร่ธาตุต่างๆ ไป
           2. ปลูกพืชหมุนเวียนและใช้ปุ๋ยให้ถูกวิธี
           3. ปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์และปลูกป่าไม้
           4. ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วทำให้เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ย
           5. ไม่เผาป่าหรือทำลายป่าไม้
           6. ไม่ทำไร่เลื่อนลอย
           7. สร้างคันดินกั้นขวางที่ลาดชัน เพื่อชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลเป็นการป้องกันการกัดเซาะ พัดพาหน้าดิน
           8. ปลูกพืชแนวขวางเป็นขั้นบันไดตามเนื้อที่ลาดชันทำให้ดินถูกชะล้างไปได้อยาก
การปรับปรุงดินโดยใช้หลักเกษตรธรรมชาติ
           หลักเกษตรธรรมชาติก็เป็นหลักการที่เลียนแบบมาจากป่าที่สมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งจะประกอบด้วยการปฏิบัติการทางการเกษตรที่คำนึงถึง ดิน พืช และแมลง ไปอย่างพร้อมกันคือ
1. มีการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถทำได้โดย
1) ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ : ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด ส่วนปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ ไรโซเบียม ไมโคไรซ่า ปุ๋ยเหล่านี้จะให้ทั้งธาตุหลักและธาตุอาหารรองแก่พืชอย่างครบถ้วน จึงใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี
2) การคลุมดิน : ทำได้โดยใช้เศษพืชต่าง ๆ จากไร่-นา เช่น ฟาง หญ้าแห้ง ต้นถั่ว ใบไม้ ขุยมะพร้าว เศษเหลือทิ้งจากไร่นา หรือ กระดาษหนังสือพิมพ์ พลาสติกคลุมดิน หรือการปลูกพืชคลุมดิน การคลุมดินมีประโยชน์หลายประการ คือ ช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และรักษาความชุ่มชื้นของดินเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยทำให้หน้าดินอ่อนนุ่มสะดวกต่อการไชชอนของรากพืช ซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ของการคลุมดินดังกล่าวมานี้จะช่วยส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตดี
3) การปลูกพืชหมุนเวียน : เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารแตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ อีกทั้งระบบรากยังมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการแผ่กว้างและหยั่งลึก ถ้ามีการจัดระบบการปลูกพืชอย่างเหมาะสมแล้ว จะทำให้การใช้ธาตุอาหารมีทั้งที่ถูกใช้และสะสมสลับกันไปทำให้ดินไม่ขาดธาตุอาหารธาตุใดธาตุหนึ่ง ดินดีปลูกอะไร อะไรก็งอกงาม ต้านทานโรคแมลงและให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ
2. ปลูกพืชหลายชนิด
           การปลูกพืชหลายชนิดเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในไร่-นา ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ เนื่องจากการปลูกพืชหลายชนิดจะทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลงจึงมีแมลงหลากหลายชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ในจำนวนแมลงเหล่านี้ จะมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติ ที่จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติในป่าที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง
2.1) การปลูกพืชหมุนเวียน : เป็นการไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือตระกูลเดียวกันติดต่อกันบนพื้นที่เดียวกัน การปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลงและช่วยประโยชน์ในทางด้านการปรับปรุงดิน
2.2) การปลูกพืชแซม : การเลือกพืชมาปลูกร่วมกัน หรือแซมกันนั้นพืชที่เลือกมานั้นต้องเกื้อกูลกัน เช่น ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้อีกชนิดหนึ่ง ช่วยคลุมดิน ช่วยเพิ่มรายได้ก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลัก เป็นต้น
3. อนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์
3.1) การที่ไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากสารเคมีทำลายทั้งแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ด้วย
3.2) ปลูกดอกไม้สีสดๆ เช่น บานชื่น ทานตะวัน บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ดาวกระจาย เป็นต้น โดยปลูกไว้รอบแปลง หรือปลูกแซมลงในแปลงเพาะปลูก สีของดอกไม้จะดึงดูดแมลงนานาชาติและในจำนวนนั้นก็มีแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย จึงเป็นการเพิ่มจำนวนแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงเพาะปลูกซึ่งจะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร

เกษตรธรรมชาติมีแนวทางและข้อดีดังต่อไปนี้
            1. ปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกันไปแบบธรรมชาติ ให้พืชพึ่งพาและควบคุมกันเอง เช่น ไม้ต้นบังร่มให้พืชที่ชอบร่ม ไม้ต้นคุมหญ้าไม่ให้รก ปลูกขิง ข่าใต้สักทอง ปลูกมันเสาให้เกาะปาล์มขวดเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ได้ใช้ประโยชน์จากพืชหลายชนิด ลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ครัวเรือน แต่ไม่ควรเน้นการผลิตเพื่อการค้า แต่ควรเน้นการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในครัวเรือน หากเหลือจึงขาย เพราะถ้าเน้นเพื่อการค้า ก็อาจจะขาดทุนได้ แต่การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่มีคำว่า ขาดทุน ถ้ารู้วิธีปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดร่วมกันอย่างเหมาะสม ทั้งประเภทไม้ป่า สมุนไพร ผัก ไม้ผล พืชพลังงาน ฯลฯ โดยพยายามกินหรือใช้ประโยชน์จากพืชทุกชนิดที่ปลูกหรือขึ้นเองตามธรรมชาติ และพยายามปลูกพืชให้มากชนิดที่สุด เพราะพืชทุกชนิดมีประโยชน์ การปลูกพืชมากๆ โดยเฉพาะพืชยืนต้นช่วยป้องกันภาวะโลกร้อน และลดภัยธรรมชาติ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวทำลายธรรมชาติ การเลี้ยงโคอย่างเดียวโดยโคนต้นไม้เพื่อปลูกหญ้าไม่ดีเท่าการเลี้ยงโคร่วมกับไม้ป่า
            2. ไม่กำจัดวัชพืช ใช้วิธีควบคุมโดยธรรมชาติ ประหยัดแรงงาน ค่าใช้จ่าย ได้ประโยชน์จากพืชทุกชนิด ไม่ถือว่าพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นวัชพืช
            3. ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปล่อยให้พืช สัตว์ควบคุมกันเอง ไม่ถือว่าพืช สัตว์ชนิดหนึ่งชนิดใด เป็นศัตรูพืช ยอมรับความเสียหายที่อาจมีบ้าง ถือว่าเป็นธรรมดาหรือเป็นธรรมชาติ การไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชช่วยให้คน สัตว์และสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากสารพิษ
            4. ไม่ไถหรือพรวนดิน ให้ไส้เดือนและรากพืช “ไถพรวน” ดินแทน นายมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ปลูก
ผักกาดหัวเพื่อพรวนดิน (ให้ผักกาดหัว “พรวนดิน” ให้) ประหยัดแรงงานและเวลา
            5. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ปล่อยให้พืชสัตว์ “ใส่ปุ๋ย” โดยธรรมชาติ ประหยัดแรงงาน ค่าใช้จ่าย ดินไม่เสีย และดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบยั่งยืน อาจปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน มีไม้ต้นเอนกประสงค์ที่ช่วยบำรุงดิน เช่น ถ่อน ทองกวาว ประดู่ ฝาง กระจาย นนทรีป่า กัลปพฤกษ์ จามจุรี (พฤกษ์ Albizia lebbeck (L.) Benth.)
            6. เลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            7. ควรทำเกษตรธรรมชาติแบบประณีต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านได้ทำและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ พ่อคำเดื่อง ภาษี ผู้ริ่เริ่มและส่งเสริมเกษตรประณีตหนึ่งไร่ พูลศักดิ์ สมบูรณ์ (“แหลมยโสธร” “อรหันต์ชาวนา”) อำเภอกุดชม จ.ยโสธร ชาวนาผู้ปลอดหนี้และมีชีวิตทั้งครอบครัวอย่างมีความสุขจากการทำเกษตรพอเพียง “แหลม” กล่าวว่า “คนอื่นๆ ทำนาเสร็จก็เข้ากรุง แต่ผมจะปลูกทุกอย่างที่สามารถกินได้ในพื้นที่ว่าง เหยียบลงตรงไหนก็สามารถกินได้หมดโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ เป็นการพึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แต่ถ้าสิ่งใดที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตั้งแต่แรกก็จะไม่ลงมือทำ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถสำเร็จได้ ถ้าไปพึ่งพาคนอื่นตั้งแต่เริ่มต้น” ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ผู้ริเริ่มวนเกษตรในเนื้อที่ 10 ไร่
            เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันในการค้าเสรีของตลาดโลก รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ สหกรณ์ไทย การเมืองไทย และการศึกษาไทยยังไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเสรี เกษตรกรไทยจึงเผชิญปัญหาและอยู่ในวังวนของความยากจน
เกษตรกรไทยจึงควรเลิกทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดโลก พึ่งพาผู้อื่น และอยู่   ในฐานะเสียเปรียบ ขาดทุน ยากจน มีหนี้สิน แล้วหันมาพึ่งพาตนเองด้วยการทำการเกษตรธรรมชาติแบบพอเพียงเพื่อวิถีชีวิตที่พอเพียง สุขสงบกับธรรมชาติ แทนวิถีชีวิตที่ดิ้นรน ไม่พอเพียง ในกระแสทุนนิยมและวัตถุนิยม

การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ
            การฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติในไร่-นาที่ผ่านการใช้สารเคมีในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างมากและเป็นเวลานานให้กลับคืนมาตามหลักการทั้ง 3 ข้อ เป็นเรื่องที่เกษตรกรสามารถทำได้โดยใช้เวลาแต่ในปีแรก ๆ จะประสบปัญหาโรคและแมลงรบกวนบ้าง เนื่องจากดินที่เริ่มถูกปรับปรุงยังไม่มีความอุดมสมบูรณ์ดีพอ และมีสารปนเปื้อนอยู่มากทำให้พืชยังไม่สามารถเติบโตและแข็งแรงได้อย่างเต็มที่ ทำให้อ่อนแอต่อการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช อีกทั้งศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชก็ยังน้อยอยู่ จึงทำให้เกษตรกรประสบปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชรบกวนและผลผลิตต่ำในระยะ 1-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นไปถ้ามีการจัดการดีจะทำให้ปัญหาโรค และแมลงศัตรูพืชลดลงพร้อมทั้งผลผลิตก็จะสูงขึ้น การเพาะปลูกพืชก็ง่ายขึ้น การใช้ปุ๋ยธรรมชาติก็ลดลงรวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ก็ใช้ปัจจัยน้อยลงซึ่งก็หมายถึงต้นทุนการผลิตลดลง แต่ผลผลิตสูงขึ้นซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่ยั่งยืน

การป้องกันและกำจัดวัชพืช
             1. ใช้วิธีการถอน ใช้จอบถาง ใช้วิธีการพรวนดิน
             2.ใช้วัสดุคลุมดินซึ่งเป็นการปกคลุมผิวดินช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินอีกด้วย โดยส่วนใหญ่มักใช้วัสดุตามธรรมชาติ ได้แก่ เศษซากพืชหรือวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร เช่น ฟางข้าว ตอซังพืช หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ต้นถั่ว ขุยมะพร้าว กากอ้อย แกลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพลาสติกที่ผลิตขึ้น สำหรับการคลุมดินโดยเฉพาะซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
             3. ปลุกพืชคลุมดิน เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินในสวนไม้ผล การปลูกพืชต่าง ๆ เช่น ผัก ไม้ดอก สมุนไพร แซมในสวนไม้ผล เป็นต้น

การป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
             1. การป้องกันและกำจัดโดยวิธีกล (mechanical control) เช่น การใช้มือจับแมลงมาทำลาย การใช้มุ้งตาข่าย การใช้กับดักแสงไฟ การใช้กับดักกาวเหนียว เป็นต้น
             2. การป้องกันและกำจัดโดยวิธีเขตกรรม (cultural control) เช่น
               1) การดูแลรักษาแปลงให้สะอาด
               2) การหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืช
               3) การเก็บเกี่ยวพืชเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายของโรคและแมลง
               4) การใช้ระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชแซม
               5) การจัดการให้น้ำ
               6) การใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชเพื่อลดการทำลายของโรคและแมลง
            3. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยชีวะวิธี (biological control) คือการใช้ประโยชน์จากแมลงศัตรูธรรมชาติ คือ
               1) ตัวเบียน (parasite) ส่วนใหญ่หมายถึง แมลงเบียน (parasitic insects) ที่อาศัยแมลงศัตรูพืชเพื่อการดำรงชีวิตและการสืบพันธุ์ซึ่งทำให้แมลงศัตรูพืชตายในระหว่างการเจริญเติบโต
               2) ตัวห้ำ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตโดยการกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิต ตัวห้ำพวกนี้ได้แก่ สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังได้แก่ สัตว์ปีก เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาย เช่น งู กิ้งก่าสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ ตัวห้ำส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญในการควบคุมแมลงและไรศัตรูพืชได้แก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมงมุม ไรตัวห้ำ และตัวห้ำส่วนใหญ่ได้แก่แมลงห้ำ (predatory insects) ซึ่งมีมากชนิดและมีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว
               3) เชื้อโรค ส่วนใหญ่หมายถึงจุลินทรีย์ที่ทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นโรคตาย เช่น เชื้อไวรัสแบคทีเรีย รา โปรโตซัว ไส้เดือนฝอยทำลายแมลงศัตรูพืช
           4. การป้องกันโดยใช้พันธุ์พืชต้านทาน (host plant resistance)
           5. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สมุนไพรต่าง ๆ
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น
ถนนมิตรภาพ ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 40110
Tel. 043-274154-5 Fax. 043-274046