บทเรียนออนไลน์
 -  ความหมายภาวะโลกร้อน
 -  สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน
 -  ก๊าซและสารที่มีผลกระทบต่อ
    ภาวะโลกร้อน
 -  ปรากฎการณ์เรือนกระจก
 -  สาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์
   เรือนกระจก
 -  ความหมายของปรากฎการณ์เรือนกระจก
 -  ผลกระทบจากปรากฎการณ์เรือนกระจก
 -  ปรากฎการณ์เอลนิโญ
 -  ปรากฎการณ์ลานิญา
 -  ข้อดีของปรากฎการณ์เรือนกระจก
 -  วิธีลดภาวะโลกร้อน
บทเรียนวิทยาศาสตร์ออนไลน์   เรื่อง   ภาวะโลกร้อน

ความหมายของภาวะโลกร้อน
           ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากผลของภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Greenhouse Effect โดยภาวะโลกร้อน ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนั้นมนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วยพร้อมๆ กับการที่เราตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และในที่สุดสิ่งต่างๆ ที่เราได้กระทำต่อโลกได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของ ภาวะโลกร้อน

สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน
            ปรากฏการณ์ทั้งหลายเกิดจากภาวะโลกร้อนขึ้นที่มีมูลเหตุมาจากการปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นที่รู้จักกันโดยเรียกว่า สภาวะเรือนกระจก
            พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีทั้งรังสีคลื่นสั้นและคลื่นยาว บรรยากาศของโลกทำหน้าที่ปกป้องรังสีคลื่นสั้นไม่ให้ลงมาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกได้ โมเลกุลของก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนในบรรยากาศชั้นบนสุดจะดูดกลืนรังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์จนทำให้อะตอมของก๊าซในบรรยากาศชั้นบนมีอุณหภูมิสูง และแตกตัวเป็นประจุ (บางครั้งเราเรียกชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยประจุนี้ว่า "ไอโอโนสเฟียร์" มีประโยชน์ในการสะท้อนคลื่นวิทยุสำหรับการสื่อสาร) รังสีอุลตราไวโอเล็ตสามารถส่องผ่านบรรยากาศชั้นบนลงมา แต่ถูกดูดกลืนโดยก๊าซโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ระยะสูงประมาณ 19 - 48 กิโลเมตร แสงแดดหรือแสงที่ตามองเห็นสามารถส่องลงมาถึงพื้นโลก รังสีอินฟราเรดถูกดูดกลืนโดยก๊าซเรือนกระจก เช่น ไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นโทรโปสเฟียร์ ส่วนคลื่นไมโครเวฟและคลื่นวิทยุในบางความถี่สามารถส่องทะลุชั้นบรรยากาศได้
            สำหรับ บรรยากาศของโลกประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน 78% ก๊าซออกซิเจน 21% ก๊าซอาร์กอน 0.9% นอกนั้นเป็นไอน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนเล็กน้อย แม้ว่าไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอนจะเป็นองค์ประกอบหลักของบรรยากาศ แต่ก็มิได้มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิของโลก ในทางตรงกันข้ามก๊าซโมเลกุลใหญ่ เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน แม้จะมีอยู่ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย กลับมีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และมีอิทธิพลทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่น เราเรียกก๊าซพวกนี้ว่า "ก๊าซเรือนกระจก" (Greenhouse gas) เนื่องจากคุณสมบัติในการเก็บกักความร้อน หากปราศจากก๊าซเรือนกระจกแล้ว พื้นผิวโลกจะมีอุณหภูมิเพียง -18 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นก็หมายความว่าน้ำทั้งหมดบนโลกนี้จะกลายเป็นน้ำแข็ง
ก๊าซและสารที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
            ก๊าซและสารที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน มีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่
ไอน้ำ (H2O)
            เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดบนโลก มีอยู่ในอากาศประมาณ 0- 4% ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และอุณหภูมิ ในบริเวณเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรและชายทะเลจะมีไอน้ำอยู่มาก ส่วนในบริเวณเขตหนาวแถบขั้วโลก อุณหภูมิต่ำ จะมีไอน้ำในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย ไอน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ไอน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ น้ำสามารถเปลี่ยนสถานะไปมาทั้ง 3 สถานะ จึงเป็นตัวพาและกระจายความร้อนแก่บรรยากาศและพื้นผิว
           ไอน้ำเกิดจากโดยฝีมือมนุษย์ 2 วิธี คือ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติ และจากการหายใจและคายน้ำของสัตว์และพืชในการทำเกษตรกรรม
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
            ในยุคเริ่มแรกของโลกและระบบสุริยะ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศถึง 98% เนื่องจากดวงอาทิตย์ยังมีขนาดเล็กและแสงอาทิตย์ยังไม่สว่างเท่าทุกวันนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยทำให้โลกอบอุ่น เหมาะสำหรับเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ครั้นกาลเวลาผ่านไปดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำฝนได้ละลายคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงมายังพื้นผิว แพลงก์ตอนบางชนิดและพืชตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ มาสร้างเป็นอาหารโดยการสังเคราะห์ด้วยแสง ทำให้ภาวะเรือนกระจกลดลง โดยธรรมชาติก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นจากการหลอมละลายของหินปูน ซึ่งโผล่ขึ้นมาจากปล่องภูเขาไฟ และการหายใจของสิ่งมีชีวิต
              ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาไหม้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่าเพื่อใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและการทำปศุสัตว์ เป็นต้น โดยการเผาป่าเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากต้นไม้มีคุณสมบัติในการตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ก่อนที่จะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเมื่อพื้นที่ป่าลดน้อยลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงลอยขึ้นไปสะสมอยู่ในบรรยากาศได้มากยิ่งขึ้น และทำให้พลังงานความร้อนสะสมบนผิวโลกและในบรรยากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 1.56 วัตต์/ตารางเมตร (ปริมาณนี้ยังไม่คิดรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นทางอ้อม)
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ( co2) มาจากประเทศไหนมากที่สุด
             จากตัวเลขที่ได้สำรวจล่าสุดนั้นเรียงตามลำดับประเทศที่ปล่อยควันพิษของโลกมีปริมาณสะสมมาตั้งแต่ปี 1950 ดังนี้
• สหรัฐอเมริกา 186,100 ล้านตัน
• สหภาพยุโรป 127,800 ล้านตัน
• รัสเซีย 68,400 ล้านตัน
• จีน 57,600 ล้านตัน
• ญี่ปุ่น 31,200 ล้านตัน
• ยูเครน 21,700 ล้านตัน
• อินเดีย 15,500 ล้านตัน
• แคนาดา 14,900 ล้านตัน
• โปแลนด์ 14,400 ล้านตัน
• คาซัคสถาน 10,100 ล้านตัน
• แอฟริกาใต้ 8,500 ล้านตัน
• เม็กซิโก 7,800 ล้านตัน
• ออสเตรเลีย 7,600 ล้านตัน
ก๊าซมีเทน (CH4)
                เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิต แม้ว่ามีก๊าซมีเทนอยู่ในอากาศเพียง 1.7 ppm แต่ก๊าซมีเทนมีคุณสมบัติของก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวคือด้วยปริมาตรที่เท่ากัน ก๊าซมีเทนสามารถดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดีกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
                ก๊าซมีเทนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากการทำนาข้าว ปศุสัตว์ และการเผาไหม้มวลชีวภาพ การเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของก๊าซมีเทนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานรวมที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 0.47 วัตต์/ตารางเมตร
ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)
                ปกติก๊าซชนิดนี้ในธรรมชาติเกิดจากการย่อยสลายซากสิ่งมีชิวิตโดยแบคทีเรีย แต่ที่มีเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องมาจากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกบางชนิด เป็นต้น ก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มพลังงานความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกประมาณ 0.14 วัตต์/ตารางเมตร นอกจากนั้นเมื่อก๊าซไนตรัสออกไซด์ลอยขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ มันจะทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน ทำให้เกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ตของโลกลดน้อยลง
สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC)
                หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ฟรีออน" (Freon) มิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ มีแหล่งกำเนิดมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และสเปรย์ เป็นต้น
                สาร CFC มีองค์ประกอบเป็นคลอรีน ฟลูออไรด์ และโบรมีน ซึ่งมีความสามารถในการทำลายโอโซน ตามปกติสาร CFC ในบริเวณพื้นผิวโลกจะทำปฏิกิริยากับสารอื่น แต่เมื่อมันดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเล็ตในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ โมเลกุลจะแตกตัวให้คลอรีนอะตอมเดี่ยว และทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน เกิดก๊าซคลอรีนโมโนออกไซด์ (ClO) และก๊าซออกซิเจน หากคลอรีนจำนวน 1 อะตอม ทำลายก๊าซโอโซน 1 โมเลกุล ได้เพียงครั้งเดียว ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ทว่าคลอรีน 1 อะตอม สามารถทำลายก๊าซโอโซน 1 โมเลกุล ได้นับพันครั้ง เนื่องจากเมื่อคลอรีนโมโนออกไซด์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนอะตอมเดี่ยว แล้วเกิดคลอรีนอะตอมเดี่ยวขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาลูกโซ่เช่นนี้จึงเป็นการทำลายโอโซนอย่างต่อเนื่อง

             ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการจำกัดการใช้ก๊าซประเภทนี้ให้น้อยลง 40% เมื่อเทียบกับ 10 กว่าปีก่อน แต่ปริมาณสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ยังคงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีพลังงานความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกประมาณ 0.28 วัตต์ต่อตารางเมตร
โอโซน (O3)
              เป็นก๊าซที่ประกอบด้วยธาตุออกซิเจนจำนวน 3 โมเลกุล มีอยู่เพียง 0.0008% ในบรรยากาศ โอโซนไม่ใช่ก๊าซที่มีเสถียรภาพสูง มันมีอายุอยู่ในอากาศได้เพียง 20 - 30 สัปดาห์ แล้วสลายตัว โอโซนเกิดจากก๊าซออกซิเจน (O2) ดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเล็ตแล้วแตกตัวเป็นออกซิเจนอะตอมเดี่ยว (O) จากนั้นออกซิเจนอะตอมเดี่ยวรวมตัวกับก๊าซออกซิเจนและโมเลกุลชนิดอื่น (M)ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แล้วให้ผลผลิตเป็นก๊าซโอโซนออกมา  ก๊าซโอโซนมี 2 บทบาท คือเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในตัวเดียวกัน ขึ้นอยู่ว่ามันวางตัวอยู่ที่ใด
โอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere Ozone)
             เป็นเกราะป้องกันรังสีอุลตราไวโอเล็ต (UV) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ในธรรมชาติโอโซนที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวมีเพียง 10% โอโซนส่วนใหญ่ในชั้นสตราโตสเฟียร์รวมตัวเป็นชั้นบาง ๆ ที่ระยะสูงประมาณ 20 - 30 กิโลเมตร ทำหน้าที่กรองรังสีอุลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ออกไป 99% ก่อนถึงพื้นโลก หากร่างกายมนุษย์ได้รับรังสีนี้มากเกินไป จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ส่วนจุลินทรีย์ขนาดเล็ก อย่างเช่นแบคทีเรียก็จะถูกฆ่าตาย
โอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere Ozone)
            เป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกประมาณ 2.85 วัตต์/ตารางเมตร โอโซนในชั้นนี้เกิดจากการเผาไหม้มวลชีวภาพและการสันดาปของเครื่องยนต์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการจราจรติดขัด เครื่องยนต์ เครื่องจักร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปะปนอยู่ในหมอกควัน เมื่อโอโซนอยู่ในบรรยากาศชั้นล่างหรือเหนือพื้นผิว มันจะให้โทษมากกว่าให้คุณ เนื่องจากเป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้นคำพูดที่ว่า "ออกไปสูดโอโซนให้สบายปอด" จึงเป็นความเข้าใจผิด
การลดลงของโอโซน
           นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบรูโหว่ขนาดใหญ่ของชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์คติก บริเวณขั้วโลกใต้ เกิดขึ้นจากกระแสลมพัดคลอรีนเข้ามาสะสมในก้อนเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤษภาคม - กันยายน (อนึ่งขั้วโลกเหนือไม่มีเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์ เนื่องจากอุณหภูมิไม่ต่ำพอที่จะทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำในอากาศ) เมื่อถึงเดือนตุลาคม ซึ่งแสงอาทิตย์กระทบเข้ากับก้อนเมฆ ทำให้คลอรีนอะตอมอิสระแยกตัวออกและทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน ทำให้เกิดรูโหว่ขนาดใหญ่ของชั้นโอโซน เรียกว่า
"รูโอโซน" (Ozone hole)

ปรากฏการณ์เรือนกระจก ( Greenhouse Effect )
          ปรากฏการณ์เรือนกระจก หมายถึง สภาพที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซต่าง ๆ ในบรรยากาศ  ผิวโลกมีปริมาณเกินภาวะสมดุล ทำให้เกิดปรากฏการณ์คล้ายกระจกหลังคาที่หุ้มเรือนกระจก และทำให้อุณหภูมิระหว่างผิวโลกกับก๊าซดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและดินฟ้าอากาศของโลก

สาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก
          การพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีผลต่อการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก สู่บรรยากาศมากขึ้น ก๊าซเรือนกระจกที่ควรรู้จักมีดังนี้
1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 )
          คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นก๊าซที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศตลอดเวลา จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้การทำลายพื้นที่ป่าไม้ยังเป็น การเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากขาดต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทีเกิด จากการ เผาไหม้ทำให้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหลืออยู่มากในบรรยากาศ
2. ก๊าซคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ( Chiorofluorocarbons, CFC )
         ก๊าซ ซีเอฟซีมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาใช้กันมาก คือ ซีเอฟซี 11 ซีเอฟซี 12 ซีเอฟซี 22 เป็นก๊าซที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นสารขับดันในกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ เช่น สเปรย์ปรับอากาศ สีกระป๋อง เมื่อมนุษย์นำสารซีเอฟซี ขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมหรือนำผลิตภัณฑ์มาใช้ สารซีเอฟซี  จะระเหยเป็นไอลอยสู่บรรยากาศและจะดูดกลืนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานกว่า 100 ปี และมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 หมื่นเท่า
ปัญหาอีกประการคือ ซีเอฟซี จะลดปริมาณโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ปกติโอโซนในชั้นนี้จะทำหน้าที่ดูดกลืน รังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ไม่ให้ผ่านทะลุมายังพื้นโลก เมื่อโอโซนลดลง รังสีอัลตราไวโอเลตถูกปล่อยลงสู่พื้นโลกมากขึ้นอาจส่งผลต่อมนุษย์โดยทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ตาเป็นต้อกระจก นอกจากก๊าซทั้งสองชนิดที่กล่าวมานี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และโอโซน ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีค่าเก็บกักความร้อนเป็น 30 150 และ 2,000 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ตามลำดับ โดยมีเทนเป็นก๊าซที่เกิด จากบ่อถ่านหินหลุมก๊าซธรรมชาติ จากการเผาอินทรีย์สาร การฝังขยะ และจากการสลายตัวของสารอินทรีย์แบบไม่มีอากาศ ( Anaerobic ) รวมทั้งการทำนาข้าว ส่วน ไรตรัสออกไซด์เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้มวลชีวภาพ สำหรับโอโซนเกิดจากปฏิกิริยาของก๊าซมลภาวะต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนโตรเจนออกไซด์กับแสงอาทิตย์

ความหมายของปรากฏการณ์เรือนกระจก
             ปรากฏการณ์เรือนกระจก
หมายถึง ปรากฏการณ์ที่แสงอาทิตย์ผ่านลงมาและ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่น ๆ ที่พอกพูนอยู่ในบรรยากาศระดับต่ำ จะตัดความร้อนเอาไว้ไม่ให้สะท้อนออกไป ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก เหมือนกับเรือนกระจกที่ใช้ปลูกต้นไม้ในเมืองหนาว ภูมิอากาศของโลก จะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากดวงอาทิตย์ เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบผิวโลก พลังงานบางส่วนจะสูญเสียไปในการทำให้พื้นผิวของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยโลกจะสะท้อนและแผ่กระจายพลังงานบางส่วนที่เหลือกลับคืนสู่บรรยากาศในรูปความร้อน แต่แก๊สเรือนกระจก (Green House Gas, GHGs) ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก จะช่วยกันกักเก็บพลังงานความร้อนเหล่านี้เอาไว้ด้วยการดูดซับ การสะท้อน หรือแผ่กระจายพลังงานความร้อนกลับสู่พื้นโลกอีกครั้ง (ภาพที่ 5- 1) ดังนั้นบรรยากาศในชั้นนี้จึงกระทำตัวเสมือนเป็นเรือนกระจก กล่าวคือยอมให้พลังงานในช่วงคลื่นสั้นเช่นรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ผ่านเข้ามาได้ แต่ไม่ยอมให้พลังงานในช่วงคลื่นยาว (รังสีอินฟราเรดหรือคลื่นความร้อน) ผ่านออกไป ปรากฏการณ์เรือนกระจกจึงทำให้เกิดการเก็บสะสมความร้อนอยู่ภายในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนมากขึ้น โดยยิ่งมีแก๊สเรือนกระจกมากขึ้นเท่าไร ความร้อนก็จะถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น อันทำให้โลกยิ่งร้อนมากขึ้นเท่านั้น

สาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก
             เกิดจากก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์(CO2) เกิดจากการเผาไหม้ต่าง ๆ เป็นก๊าซในบรรยากาศ ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน 1 อะตอม และ ออกซิเจน 2 อะตอม ต่อหนึ่งโมเลกุล. คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในสารประกอบเคมีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และมักเรียกด้วยสูตรเคมี CO2 เมื่ออยู่ในสถานะของแข็ง มักจะเรียกว่า น้ำแข็งแห้ง (dry ice) เป็นก๊าซที่มีปริมาณมากเป็นอันดับ 3 ในอากาศ รองจากไนโตรเจน และออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น ภูเขาไฟระเบิด การหายใจของสิ่งมีชีวิต หรือการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ ก๊าซนี้เป็นวัตถุดิบวำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช เพื่อใช้คาร์บอนและออกซิเจนในการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนี้ พืชจะปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศ ทำให้สัตว์ได้ใช้ออกซิเจนนี้ในการหายใจ การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ของพืชนี้เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซหนึ่งที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก มีเทน เป็น สารประกอบไฮโดรคาร์บอนพวกแอลเคน สูตรเคมีคือ CH4 เป็นแก๊สไม่มีสี ติดไฟได้ เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของแก๊สธรรมชาติ แก๊สมีเทนอาจได้มาจากการหมักมูลสัตว์และนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงราคาถูก ก๊าซมีเทนอาจพบได้ในชั้นถ่านหิน (Coal Bed Methane) โดยจากกระบวนการเกิดถ่านหินทำให้ก๊าซสะสมตัวและกักเก็บอยู่ในช่องว่างในเนื้อถ่านหิน
            CFC จะทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตและแตกตัวออกเป็นโมเลกุลคลอลีนและโมเลกุลต่างๆอีกหลายชนิด ซึ่งโมเลกุลเหล่านี้จะเป็นตัวทำลายโมเลกุลของออกซิเจนชนิดพิเศษหรือ O3 บนชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดส่องผ่านลงมายังพื้นโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก๊าซเหล่านี้ก็กันรังสีไม่ให้ออกไปจากบรรยากาศโลก ด้วยว่าที่รังสีเหล่านี้เป็นพลังงาน พวกมันจึงทำให้โลกร้อนขึ้น

ผลกระทบจากปรากฏการณ์เรือนกระจก
            ผลกระทบจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมของมนุษย์ทั้งโลก ที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ   สภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นตลอดศตวรรษที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบถึงความดันบรรยากาศด้วย และการเปลี่ยนแปลงในความดันบรรยากาศนี้เองที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศโลก เพราะความดันอากาศจะควบคุมการไหลเวียนบรรยากาศ ดังนั้นจึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของความชื้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อปริมาณของฝนที่ตก, อุณหภูมิ, ลม, และพายุ
2) ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ    เมื่อมีฝนตกหนักขึ้น จนเกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม ดินอันอุดมสมบูรณ์จะถูกพัดพาไปตามลำน้ำเกิดเป็นความขุ่นของสายน้ำ ที่เมื่อตกตะกอนจะสร้างความตื้นเขินให้แก่แหล่งน้ำ เมื่อสายน้ำขุ่นไหลออกสู่ชายฝั่งจะทำลายแนวปะการัง แหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนั้นแล้วตะกอนดินที่มีปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง ยังช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสาหร่ายตามชายฝั่ง เมื่อสาหร่ายเหล่านี้ตายลง จะเกิดการเน่าเสีย ที่ลดปริมาณออกซิเจนในน้ำจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
(3) ผลกระทบต่อแหล่งพลังงาน   ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแหล่งพลังงาน เกิดขึ้นกับกิจกรรมขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรที่อยู่ใต้อิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดพายุหมุนที่รุนแรงย่อมเป็นอุปสรรคในการขุดเจาะน้ำมันในทะเลและมหาสมุทร วาตภัยอาจกระหน่ำแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจนอับปาง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมากกว่าการผลิตพลังงานรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากของเขื่อนในหน้าแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่พอต่อการผลิตไฟฟ้า
(4) ผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลและที่อยู่อาศัยของมนุษย์   นักวิทยาศาสตร์คาดว่าถ้าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอีก 0.3OC จะทำให้กราเซียร์ (glacier) เกิดการละลายจนระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอีก 100 เมตร การขยายตัวของมหาสมุทรทำให้เมืองที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก จะถูกน้ำท่วม จนมนุษย์ต้องมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และสภาพสังคม
(5) ผลกระทบต่อการเกษตรกรรม   ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเร่งการเจริญเติบโตของพืช แต่ในบริเวณที่มีการจัดสรรน้ำในการชลประทานได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเกษตรกรรม อากาศที่ร้อนขึ้นจะเร่งการระเหยและการคายน้ำของพืช ทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวแห้งตาย ในขณะเดียวกัน อากาศร้อนยังเร่งการเจริญเติบโตของแมลงและจุลินทรีย์บางชนิดที่ทำลายพืช
(6) ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของโลก   ระดับน้ำทะเลที่สูงและอุ่นขึ้น ทำให้สัตว์และพืชต่างๆต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด และถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะล้มตายลง เช่นในปี 1998 อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลได้ทำลายปะการังของโลกไป ร้อยละ 10 และส่งผลกระทบต่อการสืบพันธ์ของสัตว์และปลาน้ำเย็น นอกจากนั้นระดับน้ำที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดการสูญพันธ์ของกบ 50 ชนิดในป่าของคอสตาริก้า (Coata Rica) ในมหาสมุทรอาร์คติกแมวน้ำและหมีขาว กำลังเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายจากช่วงฤดูหนาวที่สั้นลง ส่วนดินแดนในเขตมรสุม จะมีพายุฤดูร้อนเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น โดยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียของผลิตผลทางการเกษตรและมีการระบาดที่มากขึ้นของแมลงและเชื้อโรคหลายชนิด นอกจากนั้นการระบาดนี้ยังค่อยๆลามขึ้นไปในดินแดนทางขั้วโลกและที่สูงตามยอดเขาที่เคยหนาวเย็น
(7) การสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ที่ผิดปรกติบนผิวโลก   นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าความผิดปกติในการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ของโลกในฤดูกาลต่างๆ มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้น และ การหายไปของน้ำแข็งที่ขั้วโลก เนื่องจากแถบเส้นศูนย์สูตรเป็นบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด ดังนั้นการหายไปของป่าในเขตร้อนชื้น จึงทำให้การสะท้อนรังสีของโลกผิดปกติไป ซึ่งจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของปริมาณน้ำฝนที่ตก
(8) ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์   การเพิ่มอุณหภูมิของอากาศทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและอนามัยของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อากาศที่ร้อนและมีความชื้นสูงจะบั่นทอนสุขภาพในการทำงานของมนุษย์ ก่อให้เกิดความกดดันต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงจนง่ายต่อการรับเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ โดยอุณหภูมิและความชื้นที่สูงเกินไปอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนเกิดการเสียชีวิตได้ เช่นกรณีคลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ขยายสู่ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1995 ทำให้มีผู้สูงอายุ เด็กและคนป่วย เสียชีวิต 739 คนภายในเวลา 1 สัปดาห์ เมื่ออุณหภูมิสูง 37OC ที่ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90 และในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ 2003 คลื่นความร้อนได้ทำให้คนยุโรปเสียชีวิตประมาณ 35,000 คน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสแห่งเดียวมีคนเสียชีวิตถึง 14,802 คน โดยอากาศอุ่นชื้นที่รุนแรงของคลื่นความร้อน ทำให้ร่างกายของมนุษย์สูญเสียน้ำอย่างมาก จนจิตใจเกิดความสับสน มีปัญหาต่อระบบการหายใจ อากาศร้อนทำให้เลือดสูญเสียความสามารถในการจับตัวเป็นก้อน เกิดเลือดออกตามทวารและอวัยวะต่างๆเช่น หู ตา จมูก ปากเป็นต้น

ปรากฏการณ์เอลนิโญ ( El Nino Phenomena )
           เอลนิโญ   เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เกิดจากอิทธิพลของลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากด้านล่างของทวีปอเมริกาใต้เลียบชายฝั่งทะเล ขณะที่กระแสน้ำเย็นซึ่งพัดขนานเส้นศูนย์สูตรไปยังทวีปออสเตรเลียเกิดการย้อนกลับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ เกิดความแห้งแล้งในทวีปอเมริกาใต้และทวีปออสเตรเลีย รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ของโลก เช่นประเทศอินโดนีเซีย
           เอลนีโญ มาจากภาษาสเปน แปลว่า “ บุตรของพระคริสต์ ” ชาวประมงเปรู และเอกวาดอร์ ใช้คำนี้ในความหมายถึง กระแสน้ำอุ่นบริเวณชายฝั่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นมาในช่วงคริสต์มาสเกือบทุกปี และได้กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกกระแสน้ำอุ่นที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้น 2 – 3 ครั้ง ในทุก ๆ 10 ปี

การเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ
          โดยปกติพื้นที่ทางตอนใต้ของโลกซึ่งอยู่ระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับเส้นละติจูด 30 องศาใต้ จะได้รับอิทธิพลจากลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ พัดผ่านพื้นที่ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ กระแสลมนี้พัดเอากระแสน้ำเย็นจากทางตอนใต้ของทวีปตามแนวชายฝั่งมายัง พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรติดกับประเทศเปรูและเอกวาดอร์ กระแสน้ำนี้มีอุณหภูมิที่ผิวน้ำต่ำกว่ากระแสน้ำที่ไกลจากฝั่ง อิทธิพลจาก ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้กับการหมุนตัวของโลก ทำให้เกิดกระแสน้ำเย็นไหลไปทางซีกตะวันตกเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยผ่านทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียและประเทศอินโดนีเซีย กระแสน้ำเย็นนี้จะรวมตัวกับกระแสน้ำอุ่นบริเวณตอนกลาง และตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขึ้นในบางปีลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้อ่อนตัว หรือพัดกลับทาง ทำให้กระแสน้ำเย็นไหลไปไม่ถึงแนวชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้บริเวณเขตศูนย์สูตร น้ำบริเวณชายฝั่งประเทศเปรู เอกวาดอร์ และตอนเหนือของประเทศชิลีมีความอุ่นกว่าปกติ กระแสน้ำอุ่นนี้อาจเกิดตลอดแนวกว้าง ของมหาสมุทรแปซิฟิกจากประเทศอินโดนีเซียถึงทวีปอเมริกากลาง เหตุการณ์นี้มีการบันทึกเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2110 โดยชาวประมงเปรู ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ ปรากฏการณ์เอลนิโญ ” ในศตวรรษที่ 20 ปรากฏการณ์เอลนิโญ ได้เกิดขึ้น 23 ครั้ง มีช่วงเวลาห่างกันระหว่าง2-10 ปี โดยมีความรุนแรงต่าง ๆ กัน ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 มีความรุนแรงมากกว่าปกติจนได้ชื่อว่าเป็น มารดาของวิกฤติการณ์เอลนิโญทั้งปวง

ประโยชน์และโทษของเอลนิโญ
             นักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา วิจัยพบว่าปรากฏการณ์เอลนิโญอันเกิดจากกระแสน้ำใน มหาสมุทรแปซิฟิกแปรปรวน นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ปรากฏการณ์เอลนิโญที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีอิทธิพลต่อสภาพดินฟ้าอากาศทั่วโลกในรูปแบบซึ่งยังไม่สามารถเข้าใจกันได้อย่างชัดแจ้ง ผลที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเป็นความแปรปรวน ของภูมิอากาศและการเกิดฝนตกมากกว่าปกติทางฝั่งตะวันตกของแถบศูนย์สูตรของทวีปอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในด้านตะวันออก ของทวีป จากประเทศบราซิลตอนใต้ ถึงตอนกลางของประเทศอาร์เจนตินา ในทางตรงกันข้าม ตอนเหนือของบราซิลซึ่งเป็นบริเวณ กว้างสุดของทวีปจะมีสภาพแห้งแล้ง จะมีพายุและปริมาณฝนหนาแน่นทางชายฝั่งภาคตะวันออกของอ่าวเม็กซิโกไปจนถึงฟลอริดา ตลอดจนชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา อุณหภูมิจะสูงขึ้นและฝนน้อยลงจนถึงแห้งแล้ง ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ส่วนทวีปแอฟริกาก็มักจะเกิดสภาพแห้งแล้งเช่นเดียวกัน นอกจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดพายุหิมะเฮอริเคน ฤดูกาลต่าง ๆ ผิดไปจากปกติ แต่ส่งวนดีก็ยังมีอยู่มาก เช่น ช่วยลดมลพิษสิ่งแวดลอมเนื่องจาก อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเนื่องจากเอลนิโญจะทำให้พืชพรรณบนโลกเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว ทั้งป่าไม้ ทุ่งหญ้า ส่งผลให้พืชพรรณ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้
             ส่วนในประเทศไทย จากการเปิดเผยของหัวหน้าศูนย์ควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี บอกให้ทราบว่าสถานการณ์ของไฟป่า ในปี 2544 มาเร็วกว่าทุก ๆ ปี อาจเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของแมกมาในประเทศอินโดนีเซีย ไปประเทศเปร ูโดยพัดเอาความชุ่มชื้นไปด้วย เป็นเหตุให้อุณหภูมิต่างกัน 3 องศาเซลเซียส ก่อให้เกิดความแห้งแล้งแล้วส่งผลกระทบ ต่อประเทศไทยในที่สุด สถานการณ์ทั่วไปของเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าห้วยขาแข้งในช่วงต้นปี 2544จึงตกอยู่ในความ แห้งแล้งทำให้สัตว์ป่า ขาดแคลน น้ำและเกิดไฟป่าขึ้นเมื่อพิจารณาข้อดีและข้อเสียแล้ว พบว่า เอลนิโญทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แพร่สู่บรรยากาศมากขึ้น เนื่องมาจากการเน่าเปื่อยผุพังของซากพืชที่เกิดได้เร็วขึ้น แต่หลังจากนั้นราว2 ปี มันจะทำให้พืชพรรณแพร่ขยายและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ปรากฏการณ์ลานิญา ( La Nina Phenomena )
            ลานิญา   เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนิโญ แต่จะมีกระบวนการที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ อุณหภูมิของน้ำทะเล ในเขตศูนย์สูตรของแปซิฟิกด้านตะวันออกจะเย็นกว่าปกติ ทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดฝนตกหนักใน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงด้านเหนือของภาคตะวันตก เมื่อลานิญาอ่อนกำลังลงจะทำให้อากาศเกิดความ ชุ่มชื้น เกิดฝนตกและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในฤดูฝน ลานิญานี้จะเกิด 3-5 ปีต่อครั้ง โดยจะเว้นช่วงระยะการเกิดประมาณ 1-2 ปี จะไม่เกิดต่อเนื่องกัน โดยทั่วไปปรากฏการณ์ลานิญาจะเกิดน้อยกว่าปรากฏการณ์ เอลนิโญ ในศตวรรษที่แล้วมีการเกิด ปรากฏการณ์ลานิญา ขึ้น 15 ครั้ง โดยมีช่วงเวลาการเกิดระหว่าง 2-13 ปี

ข้อดีของปรากฏการณ์เรือนกระจก
โลก ตามปกติจะมี กระจกตามธรรมชาติที่มีประโยชน์อย่างมาก ต่ออุณหภูมิของโลกกระจกตามธรรมชาติของโลกคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ ไอน้ำ ที่เรียกว่า ก๊าซเรือนกระจก   จะปกคลุมอยู่ที่ผิวโลกด้านบนและทำหน้าที่เหมือนกับ กระจกในเรือนกระจกคือ คอยควบคุม ให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ย มีค่าประมาณ 15 องศาเซลเซียส ถ้าหากในบรรยากาศ ไม่มีกระจกตามธรรมชาติอุณหภูมิของโลกจะลดลงเหลือเพียง -20 องศาเซลเซียส มนุษย์และพืช ก็จะล้มตายและโลกก็จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง

วิธีลดภาวะโลกร้อน
1. ถอดปลั๊กไฟฟ้าทุกครั้งที่เลิกใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า รู้มั๊ยว่าการใช้ไฟฟ้าในบ้านมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 16%
2. หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากผ้าแทนการ อบผ้าในเครื่องซักผ้า
3. การรีดผ้า ควรรีดครั้งละมาก ๆแทนการัดทีละตัว เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า
4. ปิดแอร์บ้าง แล้วหันมาใช้พัดลมหรือว่าเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น
5. เวลาไปที่ห้างสรรพสินค้าอย่าเปิดประตูทิ้งไว้ เพราะแอร์จะทำงานหนักมากว่าปกติ
6. ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ นอกจากจะเป็นการได้ออกกำลังกายแล้วยังประหยัดได้เยอะขึ้นรู้มั้ยคะว่าการกดลิฟต์หนึ่งครั้งจะเป็นการเสียค่าไฟถึงครั้งละ 7 บาท
7. ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น โดยเปิดเฉพาะด้วยที่เราจำเป็นต้องใช้จริง ๆ
8. ลดๆ การเล่นเกมลงบ้าง เพราะนอกจากสายตาจะเสียแล้ว ยังเปลืองไฟมาก ๆ อีกด้วย
9. ตู้เย็นสมัยคุณแม่ยังสาว ขายทิ้งไปได้แล้ว เพราะกินไฟมากกว่าตู้เย็นใหม่ถึง 2 เท่า
10. บอกคุณพ่อคุณแม่ให้เปลี่ยนไปใช้ไฟแบบหลอด LED จะได้ไฟที่สว่างกว่าและประหยัดกว่าหลอดปกติ 40%
11. ยืดอายุตู้เย็นด้วยการไม่นำอาหารร้อนเข้าตู้เย็น และหลักเลี่ยงการนำถุงพลาสติกใส่ของในตู้เย็น เพราะจะทำให้ตู้เย็นจ่ายความเย็นได้ไม่ทั่วถึงอาหาร
12. ละลายน้ำแข็งที่เกาะในตู้เย็นเป็นประจำ เพราะตู้เย็นจะกินไฟมากขึ้นเมื่อมีน้ำแข็งเกาะ
13. ใช้รถเมล์ รถไฟฟ้าแทนการใช้รถส่วนตัว
14. ถ้าไม่ได้ไปไหนไกล ๆ ให้ใช้จักรยาน หรือเดินไปก็ดีนะคะ ได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย
15. ใช้กระดาษแต่ละแผ่นอย่างประหยัดกระดาษรียูทหนังสือพิมพ์ เพราะกระดาษเหล่านั้นมาจากการตัดต้นไม้
16. เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เอาไปบริจาคบ้างก็ได้ เพราะในบางบริษัทมีการรับ บริจาคเสื้อที่ใช้แล้ว จะนำไปหลอมมาทำเป็นเส้นใยใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 71%
17. ลดใช้พลาสติก โดยใช้ของที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เช่น กระเป๋าผ้า หรือกระติกน้ำ
18. พยายามทานอาหารให้หมด เพราะเศษอาหารเหล่านั้นก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก่อให้เกิดความร้อนต่อโลกเพิ่มขึ้น
19. ร่วมกันประหยัดน้ำมันแบบ Car Pool เพื่อช่วยประหยัดน้ำมัน และยังเป็นการลดจำนวนรถติดบนถนนได้อีกทางด้วยค่ะ
20. พยายามลดเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องอย่าง วัว เพราะมูลของสัตว์เหล่านั้นจะปล่อยก๊าซมีเทน
21 กินผักผลไม้เยอะ ๆ เพราะอุตสาหกรรมการเกษตรไม่ปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นตัวเพิ่มความร้อนให้อากาศ
22. กระดาษหนังสือพิมพ์ไม่ใช้แล้ว อย่าทิ้ง สามารถนำมาเช็ดกระจกให้ใสแจ๋วได้
23. ใช้เศษผ้าเช็ดสิ่งสกปรกแทนกระดาษชำระ
24. มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ป้ายฉลากเขียว ประหยัดไฟเบอร์ 5 มาตรฐาน
25. ไปตลาดสดแทนซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง ซื้อผัก ผลไม้ หมู ไก่ ปลา เพราะสินค้าที่ห่อด้วยพลาสติกและโฟมนั้นจะทำให้เกิดขยะจำนวนมากมายมหาศาล
26. ใช้น้ำประปาอย่างประหยัด เพราะระบบการผลิตน้ำประปาของเทศบาล ต่าง ๆ ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการทำให้น้ำสะอาด
27. ลดปริมาณการทิ้งขยะลงบ้าง
28. ป้องกันการปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศด้วยการแยกขยะอินทรีย์ เช่น พวกเศษผักและเศษอาหารออกจากขยะอื่น ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์
29. บอกคุณพ่อคุณแม่ให้ขับรถความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.
30. ทาหลังคาบ้านด้วยสีอ่อน เพื่อช่วยลดการดูดซับความร้อน
31. ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้อากาศ ปลูกไผ่แทนรั้ว ต้นไผ่เติบโตเร็วเป็นรั้วธรรมชาติที่สวยงาม และยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี อาจจะลำบากไปหน่อยแต่ก็เก๋ไม่น้อยนะคะ
33. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเติมใหม่ได้ เพื่อเป็นการลดขยะจากห่อของบรรจุภัณฑ์
34. ลดปริมาณขยะโดยใช้หลัก 3R คือ Reuse, Recycle, Reduce
35. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในสวนไม้ประดับที่บ้าน แต่ขอให้เลือกใช้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติแทน
36. ทานสเต็กและแฮมเบอร์เกอร์ในร้านใหญ่ ๆ ให้น้อยลงบ้างเพราะอุตสาหกรรมเนื้อระดับนานาชาติผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง 18 % สาเหตุหลักก็คือไนตรัสออกไซด์และมีเทนจากมูลวัว
37. มีส่วนร่วมกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยเผยแพร่ และการลดปัญหาโลกร้อน
38. อยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ตามพระราชดำรัสของในหลวงนะคะ
39. ประหยัดพลังงานเท่าที่จะทำได้ทั้งน้ำ ไฟ น้ำมัน เพื่อให้ลูกหลานของเรามีสิ่งเหล่านี้ใช้กันต่อไปในอนาคต
40. อย่าลืมนำวิธีดี ๆ เหล่านี้ไปบอกต่อเพื่อน ๆ ด้วยนะคะ

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น
ถนนมิตรภาพ ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 40110
Tel. 043-274154-5 Fax. 043-274046